บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาสูตรตำรับเห็ดอัดเม็ด สำหรับต้านอักเสบ
โดย : ธีรดา อินทรสุข และสราลี ศรัทธาพงษ์สกุล
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.อุษณา พัวเพิ่มพูลศิริ, ผศ.ดร.วริษฎา ศิลาอ่อน และ อ.ไพจิตร ศรีธนานุวัฒน์
คำสำคัญ : เบต้ากลูแคน,เห็ดอัดเม็ด,ตอกตรง,เห็ดหอม,เห็ดนางรม,เห็ดนางฟ้า
   
สารกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสารต้านการอักเสบ เช่น เบต้ากลูแคน นั้นสามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด ได้แก่ เห็ดชนิดต่างๆ นอกจากนั้นพบว่าสารดังกล่าวสามารถช่วยบรรเทาอาการ และความรุนแรงของการอักเสบในผู้ป่วยโรคเกาต์ได้ วัตถุประสงค์= การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสูตรตำรับเห็ดอัดเม็ด เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ วิธีการทดลอง= ศึกษาก่อนการตั้งตำรับของผงเห็ด 3 ชนิด ได้แก่เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า และเห็ดหอม และขึ้นรูปเป็นเม็ดของเห็ดเดี่ยว และเห็ดผสมทั้ง 3 ชนิด ด้วยวิธีตอกตรง น้ำหนัก ต่อเม็ดเท่ากับ 500 มิลลิกรัม แรงตอกอัดเท่ากับ 60 เมกะปาสคาล และศึกษาผลของ ปริมาณของ สารช่วยดูดซับความชื้น คือ แอโรซิล® (ซิลิคอน ไดออกไซด์) และ สารช่วยแตกตัว คือ แอวิเซล® พีเอช102 (ไมโครคริสตัลไลน์ เซลลูโลส) ในปริมาณร้อยละ 0.1-1 และ 3-4 ของตำรับ ตามลำดับ การศึกษาทั้งหมดจะประเมินจากปริมาณความชื้น คุณสมบัติการไหล ความสามารถในการตอกอัด ค่าเบี่ยงเบนของน้ำหนัก ความกร่อน การแตกตัวในตัวกลาง ตามข้อกำหนดการควบคุมคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานเภสัชตํารับสหรัฐอเมริกาฉบับที่ 36 และประเมินด้านความแข็ง ความหนา ตามข้อกำหนดการควบคุมคุณภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานการผลิตยาเม็ด ผลการทดลอง= ผงเห็ดที่ใช้มีความชื้นน้อยกว่าร้อยละ 10 ผงเห็ดที่ใช้มีคุณสมบัติการไหลไม่ดีโดยมีค่า angle of repose เท่ากับ 36.82-48.59 และค่า compressibility index เท่ากับ 21.69-34.29 แม้ว่าผงเห็ดทั้ง 3 ชนิดสามารถทำการตอกอัดเป็นเม็ดได้ ด้วยวิธีการตอกตรง แต่พบว่ามีปัญหาเรื่องความกร่อน และการแตกตัว เมื่อตอกอัดเห็ดผสมเห็ดทั้ง 3 ชนิดด้วยกัน และใช้สารช่วยดูดความชื้นปริมาณร้อยละ 0.1 ของตำรับ และสารช่วยแตกตัวปริมาณร้อยละ 3.9 ของตำรับ สามารถทำให้ผงเห็ดอัดเม็ดมีความกร่อนเป็นร้อยละ 0 และมีการแตกตัวน้อยกว่า 30 นาที สรุปผลการทดลอง= ผงเห็ดสามารถตอกอัดให้เป็นเม็ดได้โดยวิธีการตอกตรงและผ่านการทดสอบการควบคุมคุณภาพโดยใช้สารดูดความชื้นคือ แอโรซิล® (ซิลิคอนไดออกไซด์) และสารช่วยแตกตัวคือ แอวิเซล® พีเอช102 (ไมโครคริสตัลไลน์ เซลลูโลส) เป็นสารช่วยในตำรับ
   
ปิดหน้าต่างนี้