บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันของสารสกัดข่าลิงในหนูขาว
โดย : จัตุพล กันทะมูล นพวัฒน์ เพ็งคำศรี
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : สุภารัตน์ จันทร์เหลือง นิภาพร เมืองจันทร์
คำสำคัญ : ข่าลิง ฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน คาร์บอนเตตร้าคลอไรด์ หนูขาว
   
ข่าลิงเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นอาหารและยารักษาโรค มีรายงานผลการศึกษาในหลอดทดลองที่พบว่าสารสกัดเหง้าข่าลิงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันของสารสกัดข่าลิงในหนูขาวเพศผู้อายุ 6 สัปดาห์ โดยเหนี่ยวนำให้หนูขาวเกิดภาวะถูกออกซิไดซ์เกินสมดุลด้วยคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (Carbon tetrachloride; CCl4) ฉีด CCl4 ขนาด 0.3 มล./กก. ครั้งเดียวในวันที่ 14 หรือวันที่ 28 เข้าช่องท้องหนูขาวที่ได้รับตัวทำละลาย สารสกัดข่าลิง (100, 200 หรือ 500 mg/kg) หรือ Vitamin E (300 mg/kg) ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 28 วัน เมื่อสิ้นสุดการทดลองทำการเก็บเลือด ตับ สมอง เพื่อหาปริมาณ ALT, AST, ALP และ Malondialdehyde (MDA) เปรียบเทียบตัวแปรต่างๆระหว่างกลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณ ALT, AST, ALP และ MDA ในเลือด ตับ และสมองของหนูที่ได้รับตัวทำละลายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมหลังจากได้รับ CCl4 ในวันที่ 14 หรือวันที่ 28 Vitamin E ลดระดับสารต่างๆลงได้เมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับตัวทำละลาย เช่นเดียวกันกับหนูที่ได้รับสารสกัดข่าลิงทุกขนาด เปรียบเทียบระดับสารต่างๆระหว่างหนูที่ได้รับสารทดสอบต่อเนื่องมาเป็นเวลา 14 วันแล้วได้รับ CCl4 ในวันที่ 14 หลังจากนั้นได้รับสารทดสอบต่อเนื่องไปอีกจนถึงวันที่ 28 กับหนูที่ได้รับ CCl4 ในวันที่ 28 หลังจากได้รับสารทดสอบต่อเนื่องมาเป็นเวลา 28 วัน พบว่าระดับเอนไซม์ในเลือดและปริมาณ MDA ในเลือด ตับ และสมองของหนูที่ได้รับ CCl4 ในวันที่ 14 ต่ำกว่าการให้ CCl4 ในวันที่ 28
   
ปิดหน้าต่างนี้