บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การทดสอบความคงตัวของแคปซูลบรรจุผงบัวบกทางด้านกายภาพและจุลชีววิทยา
โดย : นางสาวสุธาภา พงศ์ทิพากร และ อาภาพร เศรษฐพลชัย
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.วริษฎา ศิลาอ่อน และ ผศ.ดร.อุษณา พัวเพิ่มพูลศิริ
คำสำคัญ : บัวบก, แคปซูลบรรจุผงบัวบก, การทดสอบความคงตัวทางจุลชีววิทยา
   
บัวบกเป็นพืชสมุนไพรไทยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเชียเพื่อใช้ในการรักษาแผล อาการปวดท้อง มีฤทธ์ต้านการอักเสบและช่วยเพิ่มความจำ วัตถุประสงค์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความคงตัวของแคปซูลบรรจุผงบัวบกทางด้านกายภาพและจุลชีววิทยา วิธีดำเนินการวิจัย นำบัวบกจากแหล่งปลูกจังหวัดอุบลราชธานี คัดเฉพาะใบ ล้างให้สะอาด อบให้แห้งที่อุณหภูมิ 50oC นาน 72 ชั่วโมง บดลดขนาด และผ่านแร่งเบอร์ 100 จากนั้นนำมาประเมินผลด้านความสามารถในการไหล และปริมาณความชื้น บรรจุผงบัวบกลงในแคปซูลเบอร์ 0 โดยใช้เครื่องบรรจุแคปซูล ประเมินแคปซูลบรรจุผงบัวบกด้านกายภาพ ได้แก่ ความแปรปรวนของน้ำหนักและระยะเวลาในการแตกตัว และด้านจุลชีววิทยาได้แก่ การตรวจสอบหาปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมด การตรวจหาปริมาณยีสต์และเชื้อรา และการตรวจสอบเชื้อกำหนดห้าม 4 ชนิด ได้แก่ เชื้อ S. aureus, E. coli, Salmonella spp., และ Clostridium spp. โดยเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 25 oC และ 45 oC ความชื้นสัมพัทธ์ 75% เป็นเวลา 6 เดือน ผลการวิจัย ในสภาวะเริ่มต้น (เดือนที่0) ผงบัวบก มีความสามารถในการไหลดี มีปริมาณความชื้นร้อยละ 7.70 ซึ่งถือว่าผ่านมาตรฐานตามที่ THP supplement 2004 กำหนด และผลการทดสอบแคปซูลบรรจุผงบัวบก พบว่า มีความคงตัวทางกายภาพ ได้แก่ ความแปรปรวนของน้ำหนัก และระยะเวลาการแตกตัว ผ่านมาตรฐานตามที่ USP 36 กำหนด ส่วนการทดสอบความคงตัวด้านจุลชีววิทยา ณ เดือนที่ 6 พบว่า การตรวจสอบหาปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมด ปริมาณยีสต์และเชื้อรา มีปริมาณเชื้อไม่ผ่านมาตรฐานตามที่ THP 2000 กำหนด อีกทั้งยังไม่สามารถสรุปได้ว่า มีการปนเปื้อนของเชื้อกำหนดห้ามทั้ง 4 ชนิด หรือไม่ เมื่อเก็บที่อุณหภูมิ 25 oC และ 45 oC ความชื้นสัมพัทธ์ 75% สรุปผลการวิจัย ดังนั้นแคปซูลบรรจุผงบัวบกควรมีการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ในวัตถุดิบก่อนการผลิตและในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
   
ปิดหน้าต่างนี้