บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาแผ่นติดผิวหนังจากไซโลกลูแคน ที่บรรจุสารสกัดพริกเพื่อ บรรเทาอาการปวด
โดย : จิตติมา อุปลา และสุพิชญ์ กิตติพิทยากร
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.วริษฎา ศิลาอ่อน และ ผศ.ดร.อุษณา พัวเพิ่มพูลศิริ
คำสำคัญ : ไซโลกลูแคน, แคปไซซิน, HPMC, PVA, PVM-MA
   
ประโยชน์ของแผ่นติดผิวหนังทางเภสัชกรรมมีมากมาย อาทิ ใช้เป็นระบบนำส่งยาทางผิวหนัง แผ่นมาส์กบำรุงผิวหน้า เป็นต้น ในงานวิจัยนี้ใช้ไซโลกลูแคน เป็นสารก่อฟิล์มซึ่งเป็น พอลิแซคคาไรด์ที่ได้จากธรรมชาติจึงไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ย่อยสลายง่าย ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเตรียมเป็นแผ่นฟิล์มได้ง่าย วัตถุประสงค์= เพื่อพัฒนาแผ่นติดผิวหนังจากไซโลกลูแคนที่บรรจุสารสกัดพริกเพื่อบรรเทาปวด วิธีดำเนินการวิจัย= เตรียมแผ่นติดผิวหนังด้วยวิธีการเทฟิล์มซึ่งใช้พอลิเมอร์ เช่น ไซโลกลูแคน, HPMC, PVA เป็นสารก่อฟิล์ม ผสมกับ PVM-MA เป็นสารเพิ่มการยึดเกาะ ในสัดส่วน 1=1 ให้มีความเข้มข้นโดยน้ำหนักร้อยละ 3 และใช้ กลีเซอรีนเป็นสารเพิ่มความยืดหยุ่น บรรจุสารสกัดพริกโดยให้มีปริมาณแคปไซซินโดยน้ำหนักร้อยละ 0.0125-0.075 นำไปทำให้แห้งโดยใช้ตู้อบอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 6-8 ชั่วโมง ทดสอบสมบัติด้านกายภาพ เชิงกล และการปลดปล่อยแคปไซซินจากแผ่นติดผิวหนัง ผลการวิจัย= แผ่นติดผิวหนังไซโลกลูแคนมีลักษณะขุ่นแต่แผ่นติดผิวหนัง HPMC มีลักษณะใส ผิวเรียบ แผ่นติดผิวหนังไซโลกลูแคนมีความแข็งแรงและแรงยึดเกาะน้อยกว่าแผ่นติดผิวหนัง HPMC แต่มีเปอร์เซ็นต์ความยืดหยุ่นมากกว่า การวิเคราะห์ปริมาณแคปไซซินในสารสกัดพริกและในแผ่นติดผิวหนังไซโลกลูแคน พบว่ามีปริมาณโดยน้ำหนักต่อปริมาตรร้อยละ 3.952 และ 0.04 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร ตามลำดับ แผ่นติดผิวหนังไซโลกลูแคนปลดปล่อย แคปไซซินสะสมที่เวลา 9 ชั่วโมงได้ร้อยละ 54.30 ซึ่งมากกว่าแผ่นติดผิวหนัง HPMC การพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารโดย FT-IR พบว่าแผ่นติดผิวหนังทั้งสองชนิดมีพีคที่เลขคลื่น 3330.63 cm-1, 3354.31cm-1 ตามลำดับ บ่งชี้ได้ว่ามีหมู่ฟังก์ชันเอไมด์ (ช่วงเลขคลื่น 3250-3400 cm-1) ซึ่งเป็นหมู่ฟังก์ชันที่สำคัญของแคปไซซิน สรุปผลการวิจัย= แผ่นติดผิวหนังไซโลกลูแคนซึ่งเป็นพอลิเมอร์จากธรรมชาติที่ผสมสารสกัดพริกมีสมบัติด้านกายภาพและเชิงกลด้อยกว่าแผ่นติดผิวหนังจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ แต่ปลดปล่อยสารสำคัญได้ดีกว่า
   
ปิดหน้าต่างนี้