บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ผลของสารสกัดสมุนไพรกำแพงเจ็ดชั้นและสมุนไพรอื่นอีก 4 ชนิด ต่อการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 จากตับหนูในหลอดทดลอง
โดย : สายสุดา ดีวงศ์ และ อรณี ปัตถาติ
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.เบญจภรณ์ เศรษฐบุปผา ดร.สุทธาสินี สุวรรณกุล
คำสำคัญ : ไซโตโครมพี 450, CYP3A4, กำแพงเจ็ดชั้น, ชะเอมไทย, ม้ากระทืบโรง, มะแว้งเครือ,ลำเจียก
   
ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรมาใช้เพิ่มขึ้นทั้งการใช้ในรูปแบบเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ซึ่งยาสมุนไพรบางชนิดจะส่งผลต่อการเมตาบอลิซึมของยาแผนปัจจุบันผ่านกลไกของเอนไซม์ไซโตโครม พี 450 วัตถุประสงค์= ศึกษาผลของสารสกัดสมุนไพรกำแพงเจ็ดชั้น (Salacia chinensis L.), ชะเอมไทย (Albizia myriophylla Benth.), ม้ากระทืบโรง (Ficus foveolata Wall.), มะแว้งเครือ (Solanum trilobatum L.) และลำเจียก (Pandanus odoratissimus L.f.) ต่อการทำงานของเอนไซม์ ไซโตโครมพี 450 3A4 (CYP3A4) จากตับหนูในหลอดทดลอง วิธีดำเนินการวิจัย= ศึกษาจากการเกิดปฏิกิริยา testosterone 6β-hydroxylation ซึ่งมี testosterone เป็นสารตั้งต้นของเอนไซม์ CYP3A4 แล้วหาปริมาณของสาร 6β- hydroxytestosterone ซึ่งเป็นเมตาบอไลท์ที่เกิดขึ้นด้วยเทคนิค High performance liquid chromatography โดยเปรียบเทียบกันระหว่างหลอดที่ใส่และไม่ใส่สารสกัดสมุนไพร และแสดงผลในรูปของร้อยละการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ผลการวิจัย= ส่วนสกัดสมุนไพรด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 คือ กำแพงเจ็ดชั้น, ชะเอมไทย, ม้ากระทืบโรง, มะแว้งเครือ และลำเจียก ร้อยละ 10.42, 11.25, 34.79, 57.92 และ 1.67 ตามลำดับ ส่วนสกัดสมุนไพรด้วยเฮกเซนมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 คือ ม้า-กระทืบโรง ร้อยละ 2.46 และส่วนสกัดสมุนไพรด้วยน้ำมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 คือ ชะเอมไทย, ม้ากระทืบโรง, มะแว้งเครือ และลำเจียก ร้อยละ 2.21, 2.40, 5.54 และ 0.25 ตามลำดับ สรุปผลการวิจัย= สมุนไพรที่ทำการศึกษามีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 เมื่อทดสอบในหลอดทดลองด้วยระดับการยับยั้งที่แตกต่างกัน
   
ปิดหน้าต่างนี้