บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมเยลลี่หญ้าดอกขาวอดบุหรี่
โดย : สุชาดา วิระสิทธิ์ และ สุรินทร สีทา
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.จารุวรรณ ธนวิรุฬห์ , ผศ.ดร.วริษฎา ศิลาอ่อน และ รศ.ดร.อนันต์ ไชยกุลวัฒนา
คำสำคัญ : หญ้าดอกขาว, ลูกอมเยลลี่, เลิกบุหรี่
   
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมเยลลี่จากสมุนไพรหญ้าดอกขาวเพื่อประโยชน์ในการอดบุหรี่ การศึกษานี้ประกอบด้วยการหาปริมาณสารสำคัญในสารสกัดหญ้าดอกขาว การพัฒนาลูกอมเยลลี่หญ้าดอกขาว การหาปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ การประเมินคุณสมบัติทางกายภาพ การประเมินความคงตัวของผลิตภัณฑ์ในด้านกายภาพและจุลชีววิทยาที่ระยะเวลา 1 และ 3 เดือน ที่อุณหภูมิ 4°C 25°C และ 45 °C ภายใต้การเก็บใน 2 รูปแบบ คือ มีการห่อและไม่ห่อลูกอมด้วยพลาสติก นอกจากนี้ยังทำการประเมินความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์จากอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 33 คน การศึกษานี้ได้ทำการสกัดหญ้าดอกขาวด้วยน้ำ แล้วนำสารสกัดมาวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญ พบว่ามีปริมาณฟีนอลิกโดยรวม ฟลาโวนอยด์ และไนเตรท คิดเป็น 0.50 1.60 และ 1.60 มิลลิกรัมใน 1 กรัมผงแห้งหญ้าดอกขาว ตามลำดับ ในการพัฒนาลูกอมเยลลี่ พบว่าสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่าง เจลลาติน=เพคติน=ซิตริก แอซิค=กลูโคส คือ 28=0.48=0.5=14.3 และเมื่อนำผลิตภัณฑ์ไปประเมิน พบว่า สารสำคัญในผลิตภัณฑ์มีปริมาณฟีนอลิกโดยรวม ฟลาโวนอยด์ และไนเตรท คิดเป็น 1.09, 1.55 และ 1.40 มิลลิกรัมในลูกอม 2 เม็ด (หญ้าดอกขาวผงแห้ง 1 กรัม) ตามลำดับ ทั้งนี้พบว่าการวิเคราะห์สารสำคัญได้รับการรบกวนจากการตกตะกอนในการหาปริมาณฟีนอลิก ผลิตภัณฑ์ลูกอมมีค่าน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากับ 3.67 กรัมต่อเม็ด ผลิตภัณฑ์ลูกอมมีความคงตัวทางกายภาพและจุลชีววิทยา เมื่อเก็บไว้ 1 และ 3 เดือนที่ 4 และ 25 °C โดยพบว่าปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมดน้อยกว่า 30 CFU/g และปริมาณยีสต์และรา น้อยกว่า 10 CFU/g ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ลูกอมมีการหลอมละลาย เมื่อเก็บไว้ที่ 45 °C ผลการทดสอบความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ในอาสาสมัคร 33 คน พบว่าคะแนนในทุกด้านอยู่ในระดับดี งานวิจัยนี้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมเยลลี่เพื่อการอดบุหรี่จากสารสกัดหญ้าดอกขาวที่มีลักษณะทางกายภาพดีและมีความคงตัว อย่างไรก็ตามควรทำการศึกษาหาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในการอดบุหรี่ต่อไป
   
ปิดหน้าต่างนี้