บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารเบต้ากลูแคนจากเห็ดซิ่น เห็ดพุงหมู และเห็ดหำฟาน
โดย : นศ.ภ.กลรัตน์ เชิดโคกศรี และ นศ.ภ.วรกานต์ มิตรวงค์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.สุภารัตน์ จันทร์เหลือง และ รศ.ดร.ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์
คำสำคัญ : เห็ดซิ่น, เห็ดหำฟาน, เห็ดพุงหมู, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
   
สารเบต้ากลูแคนในเห็ดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง เช่น เพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดระดับไขมันและน้ำตาลกลูโคสในเลือด ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ ยับยั้งมะเร็ง และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารเบต้ากลูแคนที่สกัดด้วยน้ำร้อนจากเห็ดซิ่น เห็ดพุงหมู และเห็ดหำฟาน ด้วย DPPH assay, ABTS assay, FRAP assay และ FTC assay เมื่อศึกษาความสามารถในการจับอนุมูลอิสระด้วย DPPH assay พบว่าเห็ดซิ่น เห็ดพุงหมู และเห็ดหำฟานมีค่า IC50 เท่ากับ 123.57±2.05, 245.50±7.23 และ 770.44±28.72 µg/mL ตามลำดับ และเมื่อทดสอบด้วย ABTS assay พบว่า เห็ดซิ่น เห็ดพุงหมู และเห็ดหำฟาน มีค่า TEAC เท่ากับ 0.50±0.07, 0.20±0.04 และ 0.07±0.01 mM/mg ตามลำดับ เมื่อทดสอบความสามารถในการให้อิเล็กตรอนด้วย FRAP assay พบว่า เห็ดซิ่น เห็ดพุงหมู และเห็ดหำฟาน มีค่า FRAP value เท่ากับ 170.17±41.71, 39.56±9.23 และ 263.58±63.83 mgFe2+/mg ตามลำดับ และเมื่อทดสอบด้วย FTC assay พบว่า เห็ดหำฟานมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันดีกว่าเห็ดพุงหมู และเห็ดซิ่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการศึกษาทั้งหมดสรุปได้ว่า สารเบต้ากลูแคนจากเห็ดซิ่น เห็ดพุงหมู และเห็ดหำฟาน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี
   
ปิดหน้าต่างนี้