บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันของสมุนไพรที่มีในตำรับยาสตรีแผนโบราณ
โดย : วีระพล บุณรงค์ เกศโร อิโน
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : สุภารัตน์ จันทร์เหลือง
คำสำคัญ : สมุนไพรไทย ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณหมู่ฟีนอลรวม ความสามารถในการจับอนุมูลอิสระ ความสามารถในการให้อิเล็กตรอน
   
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของพืชสมุนไพรที่มีในตำรับยาสตรีแผนโบราณ 6 ชนิด คือ คำฝอย (Carthamus tinctorius) กัญชาเทศ (Leonurus sibiricus) แก่นฝาง (Caesalpinia sappan) โกศหัวบัว (Conioselinum univitatum) ว่านมหาเมฆ (Curcuma aeruginosa) และว่านสากเหล็ก (Curculigo latifolia) โดยการหาปริมาณหมู่ฟีนอลรวม (total phenolic content) การทดสอบความสามารถในการจับกับสารอนุมูลอิสระ (radical scavenging power) ด้วยวิธี DPPH assay และ ABTS assay และการทดสอบความสามารถในการให้อิเล็กตรอน (reducing power) โดยวิธี FRAP assay และ FTC assay เปรียบเทียบกับ vitamin C vitamin E และ trolox ผลการศึกษาพบว่า แก่นฝางและว่านสากเหล็กมีปริมาณหมู่ฟีนอลรวมมากที่สุดคือ 671.407±8.455 และ 152.222±1.626 mg/g ตามลำดับ การทดสอบความสามารถในการจับอนุมูลอิสระด้วย DPPH assay พบว่าค่า IC50 ฝางและสากเหล็กมีค่าเท่ากับ 7.31±0.099 และ 38.44±0.728 µg/ml ตามลำดับ และผลจาก ABTS assay พบว่าฝางและสากเหล็กมีค่า TEAC (Trolox Equivalent Antioxidative Capacity) เท่ากับ 415.831±9.984 และ 119.067 ±4.616 µg/g ตามลำดับ ความสามารถในการให้อิเล็กตรอนเมื่อทดสอบด้วย FRAP assay พบว่า ฝางและสากเหล็กมีค่าเท่ากับ 4817.374±89.386 และ 2154.747 ±33.804 µg of FeSO4 /mg ตามลำดับ การศึกษาฤทธิ์ในการต้านการเกิดเปอร์ออกซิเดชันของไขมันด้วยวิธี FTC assay พบว่าในวันที่ 7 กัญชาเทศมีค่าร้อยละของการยับยั้งการเกิดเปอร์ออกซิเดชันของไขมันสูงที่สุด รองลงมาคือโกศหัวบัว ว่านสากเหล็ก ฝาง คำฝอย และว่านมหาเมฆ ตามลำดับ
   
ปิดหน้าต่างนี้