บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การประยุกต์ใช้เภสัชพันธุศาสตร์ในผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน
โดย : รชตะ มังกรแก้ว และรณชัย ชมเมือง
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ดร.สมหวัง จรรยาขันติกุล และ อ.พีรวัฒน์ จินาทองไทย
คำสำคัญ : Warfarin, VKORC1, CYP2C9, Pharmacogenetics
   
warfarin เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อรักษาและป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ยานี้มีช่วงระดับการรักษาแคบ และมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยารวมทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรมซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ว่าการปรับขนาดยาโดยอาศัยผลทางเภสัชพันธุศาสตร์จะช่วยให้การปรับขนาดยามีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลที่แสดงถึงความชุกและความสัมพันธ์ถึงผลของลักษณะทางพันธุกรรมในประชากรชาวไทยต่อการออกฤทธิ์ของยา warfarin ยังมีอยู่อย่างจำกัด วัตถุประสงค์= เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสัดส่วนจีโนไทป์ของยีนที่มีผลต่อการตอบสนองต่อยา warfarin ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่มีค่า Therapeutic Time in Range (TTR) มากกว่าร้อยละ 40 และกลุ่มที่มีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 40 วิธีดำเนินการวิจัย= ทำการเก็บตัวอย่างเลือดในผู้ป่วย ณ คลินิกผู้ป่วยนอกอายุรกรรม โรงพยาบาลวารินชำราบ ที่ได้รับยา warfarin ไม่น้อยกว่า 3 เดือนในช่วงระหว่างเดือน ต.ค-ธ.ค พ.ศ. 2558 จำนวน 43 ราย วิเคราะห์หาความถี่จีโนไทป์CYP2C9*2 (CC CA และ AA) CYP2C9*3 (AA AC และ CC) และ VKORC1 (GG GA และ AA) เปรียบเทียบสัดส่วนจีโนไทป์ของยีนในแต่ละกลุ่มด้วยสถิติ Chi-square หรือ Fisher exactผลการวิจัย= กลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับ TTR มากกว่าร้อยละ 40 พบความถี่จีโนไทป์ CYP2C9*2 (C/C) จำนวน 17 ราย (100%) CYP2C9*3 (A/A) จำนวน 17 ราย (100%) VKORC1 (G/A) จำนวน 6 ราย (35.29%) และ VKORC1 (A/A) จำนวน 11 ราย (64.71%) ในขณะกลุ่มผู้ป่วยที่มีTTR น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 40 พบความถี่จีโนไทป์ CYP2C9*2 (C/C) จำนวน 26 ราย(100%) CYP2C9*3 (A/A) จำนวน 24 ราย (92.31%) และ (C/C) จำนวน 2 ราย (7.69%) VKORC1 (G/G) จำนวน 3 ราย (11.54%) VKORC1 (G/A) จำนวน 10 ราย (38.46%) และVKORC1 (A/A) จำนวน 13 ราย (50%) สรุปผลการวิจัย= สัดส่วนความถี่จีโนไทป์ของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีจีโนไทป์ของCYP2C9*2 CYP2C9*3 และ VKORC1 ส่วนใหญ่เป็นแบบ (C/C) (A/A) และ (A/A) ตามลำดับ
   
ปิดหน้าต่างนี้