บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสั่งใช้ยาอย่างสม่ำเสมอของแพทย์ในมุมมองของผู้แทนยา
โดย : พรรณทิพา ผิวทอง และ พิมพ์ชนก ทองทวน
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร. สัมมนา มูลสาร, รศ.ดร. วิภาวี เสาหิน และ ผศ.ดร. แสวง วัชระธนกิจ
คำสำคัญ :

   
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสั่งใช้ยาอย่างสม่ำเสมอของแพทย์ในมุมมองของผู้แทนยาและเปรียบเทียบความคิดเห็นระหว่างเพศของผู้แทนยาเกี่ยวกับปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสั่งใช้ยาอย่างสม่ำเสมอของแพทย์ รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามที่ได้รับการตอบกลับทางไปรษณีย์ จากผู้แทนยาสังกัดบริษัทที่มีการขายยาต้นแบบ (original brand name drugs) ที่มาติดต่อขายยาให้โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย 6 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 26 แห่ง โรงพยาบาลละ 8 ชุด รวม 256 ชุด และผู้แทนยาที่อยู่บริษัทยาที่มีการขายยาต้นแบบ จำนวน 26 บริษัท รวม 244 ชุด รวมทั้งสิ้น 500 ชุด ในช่วงเดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม 2558 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติที มีการตอบกลับแบบสอบถามทั้งหมด 104 ชุด (ร้อยละ 23.2) พบว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสั่งใช้ยาอย่างสม่ำเสมอของแพทย์ในมุมมองของผู้แทนยาที่มีค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ผู้แทนยามีความรู้เรื่องยาและสามารถตอบข้อซักถามของแพทย์ได้, การมีเอกสารทางวิชาการที่น่าเชื่อถือยืนยันประกอบการให้ข้อมูล, ทักษะในการสื่อสารและความสามารถในการโน้มน้าวใจของผู้แทนยา, ยาที่มีข้อเด่นกว่ายาคู่แข่ง และ ราคายาที่เหมาะสม (ค่าเฉลี่ยคะแนน เท่ากับ 4.62, 4.51, 4.43, 4.41 และ 4.33 ตามลำดับ จากคะแนนสูงสุด 5 คะแนน) สำหรับปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสั่งใช้ยาอย่างสม่ำเสมอของแพทย์ในมุมมองของผู้แทนยาที่มีค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ การให้ค่าตอบแทนหรือของที่ระลึกตามยอดการสั่งใช้ยาในผู้ป่วยรายใหม่, เพศของผู้แทนยา, เพศของแพทย์, การให้ค่าตอบแทนหรือของที่ระลึกตามยอดการสั่งยา และอายุของผู้แทนยา (ค่าเฉลี่ยคะแนน เท่ากับ 2.62, 2.74, 2.76, 2.83 และ 2.89 ตามลำดับ จากคะแนนสูงสุด 5 คะแนน) นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้แทนยาเพศหญิงเห็นว่า การให้ยาตัวอย่างเพื่อใช้ในโรงพยาบาล และการแลกเปลี่ยนยาในกรณีที่มียาหมดอายุ มีความสัมพันธ์ต่อการสั่งใช้ยาอย่างสม่ำเสมอของแพทย์สูงกว่าผู้แทนยาเพศชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value =0.006 และ 0.009 ตามลำดับ) แต่สำหรับผู้แทนยาเพศชายเห็นว่า การให้ทุนเพื่อศึกษาดูงานภายในประเทศ และราคายาที่เหมาะสม มีความสัมพันธ์ต่อการสั่งใช้ยาอย่างสม่ำเสมอของแพทย์สูงกว่าผู้แทนยาเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.040 และ 0.041 ตามลำดับ) ผลการศึกษาพบว่าผู้แทนยายังมีกิจกรรมส่งเสริมการขายยาที่ไม่เหมาะสมทางวิชาการหรือผิดเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลจากงานวิจัยนี้ไปใช้ในการกำหนดเกณฑ์หรือแนวทางในการควบคุมพฤติกรรมหรือกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ไม่เหมาะสมของบริษัทยา
   
ปิดหน้าต่างนี้