บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : มุมมองของเภสัชกรโรงพยาบาลต่อพฤติกรรมการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้แทนยา
โดย : ตรีเทพ ปัณณวัฒน์สกุล และ พิชญา อิ่มสำอางค์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร. สัมมนา มูลสาร,รศ.ดร. วิภาวี เสาหินและ ผศ.ดร. แสวง วัชระธนกิจ
คำสำคัญ : จรรยาบรรณ, ผู้แทนยา เภสัชกรโรงพยาบาล
   
การส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมของผู้แทนยาอาจจะส่งผลให้เกิดการสั่งใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมการศึกษาจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเภสัชกรโรงพยาบาลต่อการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้แทนยาและเปรียบเทียบมุมมองของเภสัชกรโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)และเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อพฤติกรรมการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้แทนยา เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างเภสัชกรโรงพยาบาลฝ่ายงานบริหารเวชภัณฑ์และงานจัดซื้อและ/หรือหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2558โรงพยาบาลละ 2 ชุดส่งแบบสอบถามไปรพศ./รพท. 232 ชุด และรพช. 448 ชุด ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาสถิติไค-สแควร์และสถิติที มีแบบสอบถามที่ส่งกลับของรพศ./รพท.72 ชุดและรพช.113 ชุด พบว่าผู้แทนเข้าพบเภสัชกรโรงพยาบาลเฉลี่ย15 ครั้ง/เดือน โดยพฤติกรรมของผู้แทนยาที่พบมากที่สุด3 ลำดับแรก ได้แก่ ผู้แทนยาให้สื่อโฆษณาที่มีชื่อทางยาและชื่อการค้า(99.3%), ปริมาณตัวยาสำคัญและส่วนประกอบอื่น(96.6%)และให้อุปกรณ์เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน(96.6%)และพฤติกรรมของผู้แทนยาที่พบน้อยที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ให้ทุนการสนับสนุนการวิจัยโดยไม่ผ่านระบบการกำกับดูแลของสถานพยาบาล(8.1%),ให้ทุนสนับสนุนเป็นการส่วนตัวเพื่อไปพักผ่อนใน/ต่างประเทศ(9.5%), และทำการโฆษณายาหรือส่งเสริมการขายยาแก่นักศึกษาแพทย์(12.2%) นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมของผู้แทนยาที่เภสัชกร รพศ/รพท.พบมากกว่าเภสัชกร รพช. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ผู้แทนยามีความรู้พื้นฐานด้านยาพอสมควร(p=0.010), มีการนำเสนอข้อมูลด้านความปลอดภัย ผลข้างเคียง/ผลกระทบจากการใช้ยา(p=0.005), ให้หนังสือ/ตำราทางวิชาการหรือฐานข้อมูลวิชาการเพื่อใช้ในโรงพยาบาล(p=0.007), ให้ตัวอย่างยาเพื่อใช้ในโรงพยาบาล(p=0.013), เลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่แพทย์ในโรงพยาบาล(p<0.001), เลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่แพทย์เป็นการส่วนตัว(p<0.001), เลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่เภสัชกรในโรงพยาบาล(p<0.001), เลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่เภสัชกรเป็นการส่วนตัว(p<0.001),ให้ทุนสนับสนุนการประชุมวิชาการ/ศึกษาดูงาน/อบรมในหรือต่างประเทศแก่ผู้สั่งใช้ยา/ผู้สั่งซื้อยา(p<0.001), ให้ทุนสนับสนุนการประชุมวิชาการ/ศึกษาดูงาน/อบรม ในหรือต่างประเทศ โดยครอบคลุมผู้ติดตามหรือนอกช่วงเวลาของการดูงาน(p=0.006), ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาระบบงานในโรงพยาบาล(p=0.012), ให้ทุนสนับสนุนการจัดกิจกรรมในโรงพยาบาล(p=0.001), ให้ของที่ระลึกที่มีข้อความหรือรูปภาพที่จะแจ้งเตือนหรือจดจำยาที่ผู้แทนรับผิดชอบ(p=0.017), มีปฏิสัมพันธ์อันเป็นกิจหรือบริการส่วนตัวเพื่อมุ่งชักจูงให้เกิดการสั่งซื้อ/ใช้/จ่ายยา(p=0.006), ผู้แทนยาทำการโฆษณายาหรือส่งเสริมการขายยาแก่นักศึกษาแพทย์(p=0.002) ในด้านความถี่ของพฤติกรรมที่ เภสัชกร รพศ/รพท.พบมากกว่าเภสัชกรรพช.อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การนำเสนอข้อมูลยาโดยมีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือประกอบ(p=0.008), การนำเสนอข้อมูลด้านความปลอดภัย ผลข้างเคียง/ผลกระทบจากการใช้ยา(p=0.001), การแสดงสถานการณ์สนับสนุนงานวิจัยของบริษัทอย่างชัดเจนเมื่อนำผลวิจัยทางคลินิกมาอ้างอิง (p=0.039), การให้ตัวอย่างยาเพื่อใช้ในโรงพยาบาล(p=0.010), การเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่แพทย์ในโรงพยาบาล(p<0.001), การเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่แพทย์เป็นการส่วนตัว(p=0.007) ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าผู้แทนยามีพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์จริยธรรมอยู่บางส่วนดังนั้นแต่ละโรงพยาบาลจึงควรมีการกำหนดเกณฑ์นโยบายในโรงพยาบาลเพื่อกำกับการส่งเสริมการขายให้เป็นไปตามเกณฑ์จริยธรรม
   
ปิดหน้าต่างนี้