บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : พฤติกรรมการใช้กลูต้าไธโอนของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน
โดย : ทักษิณีย์ ศรีพล และ เบญจมาภรณ์ เกษามา
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร. สุวรรณา ภัทรเบญจพล , อ.ดร. สุทธาสินี สุวรรณกุล และ อ. ณรงค์ชัย จักษุพา
คำสำคัญ : ผิวขาว กลูต้าไธโอน ทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี,นักศึกษา
   
การบริโภคกลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวในกลุ่มนักศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้นตามค่านิยมความงามและการมีผิวขาวของคนในสังคมไทย วัตถุประสงค์= เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจเรื่องกลูต้าไธโอนและปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์กลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน วิธีดำเนินการวิจัย= การวิจัยเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง โดยเก็บข้อมูลในชั้นเรียน 4 รายวิชา ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ด้วย แบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน และใช้สถิติเชิงพรรณนา ในการอธิบายคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง และข้อมูล องค์ประกอบตามทฤษฎี และใช้การวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุในการหาความสัมพันธ์ระหว่างความตั้งใจในการบริโภคกลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวกับทัศนคติ การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง และความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม กำหนดระดับนัยสำคัญที่ α เท่ากับ 0.05 ผลการวิจัย= กลุ่มตัวอย่างนักศึกษาจำนวน 368 คน เข้าร่วมการศึกษาโดยสมัครใจ ส่วนใหญ่เป็นหญิง (82.9%) ประมาณหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างเคยใช้ผลิตภัณฑ์กลูต้าไธโอน (34.8%).มีความรู้เกี่ยวกับกลูต้าไธโอนในระดับปานกลาง (5.0 ± 2.3, คะแนนเต็ม10) โดยส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกลูต้าไธโอนผ่านทางอินเตอร์เน็ต และโทรทัศน์ (91.3% และ 67.2% ตามลำดับ) การประยุกต์ใช้ทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อการใช้กลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวในระดับปานกลาง มีการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงต่ำ และมีการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมปานกลาง โดยองค์ประกอบทั้งสามเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในการทำนายความตั้งใจในการบริโภคกลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2= 0.311) และเมื่อพิจารณาเพศร่วมด้วยพบว่า เพศหญิงมีความตั้งใจในการบริโภคกลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวสูงกว่าชาย (R2= 0.324) โดยทัศนคติ เป็นองค์ประกอบที่มีอำนาจในการทำนายมากที่สุด สรุปผลการวิจัย= ผลการศึกษาชี้ให้เห็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลผิวพรรณของนักศึกษาในสองประเด็น คือ การพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อของนักศึกษาและการใช้มาตรการควบคุมสื่อโฆษณาที่เกินจริง
   
ปิดหน้าต่างนี้