บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดจากเห็ดหำฟาน เห็ดพุงหมู และเห็ดดังวัว
โดย : เชาว์วัฒน์ จาตุรันต์เรืองศรี และเมธาวี ตรีรัตนชวลิต
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.สุภารัตน์ จันทร์เหลือง และ รศ.ดร.ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์
คำสำคัญ : เบตากลูแคน เห็ดหำฟาน เห็ดพุงหมู เห็ดดังวัว ฤทธิ์ต้านจุลชีพ
   
เห็ดหำฟาน เห็ดพุงหมู และเห็ดดังวัวเป็นเห็ดป่าที่มีการรายงานว่ามีสารเบตากลูแคนสูง ซึ่งสารเบตากลูแคนมีฤทธิ์ทางชีวภาพหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือฤทธิ์ต้านจุลชีพ วัตถุประสงค์= เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดชั้นน้ำ และชั้นเอทานอลของเห็ดหำฟาน เห็ดพุงหมู และเห็ดดังวัว วิธีดำเนินการวิจัย= เตรียมสารสกัดชั้นน้ำ และชั้นเอทานอลจากเห็ดเห็ดหำฟาน เห็ดพุงหมู และเห็ดดังวัว ศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพต่อเชื้อ 4 สายพันธุ์คือ Staphylococcus aereus ATCC25923, Escherichia coli ATCC25922, Pseudomonas aeruginosa ATCC27853 และ Candida albican ATCC10231 ด้วยวิธี Agar disc diffusion ขนาดของสารสกัดทุกชนิดคือ 2.5 มิลลิกรัมต่อ disc และวิธี Agar well diffusion ใช้ความเข้มข้น 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ทุกสารทดสอบ ผลการวิจัย= เมื่อศึกษาด้วยวิธี Agar disc diffusion พบว่าสารสกัดชั้นเอทานอลและชั้นน้ำของเห็ดทั้ง 3 ชนิดไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่สารสกัดเห็ดพุงหมูด้วยน้ำ และสารสกัดเห็ดดังวัวด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา C. albican โดยมีค่าเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของฤทธิ์ต้านเชื้อราเท่ากับ 11.24±1.4 และ 10.9±2.0 มิลลิเมตร ตามลำดับ เมื่อศึกษาด้วยวิธี Agar well diffusion พบว่าสารสกัดชั้นเอทานอลและชั้นน้ำของเห็ดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่สารสกัดเห็ดหำฟานชั้นเอทานอล สารสกัดเห็ดพุงหมูชั้นน้ำ สารสกัดเห็ดดังวัวชั้นเอทานอลและชั้นน้ำมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา C. albican โดยมีค่าเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของฤทธิ์ต้านเชื้อราเท่ากับ 14.7±1.0, 12.57±0.7, 12.47±0.9 และ 18.17±3.0 มิลลิเมตร ตามลำดับ สรุปผล= สารสกัดเห็ดหำฟานชั้นเอทานอล สารสกัดเห็ดพุงหมูชั้นน้ำ สารสกัดเห็ดดังวัวชั้น เอทานอลและน้ำมีความสามารถในการยับยั้งเชื้อรา โดยสารสกัดเห็ดดังวัวชั้นน้ำมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราได้มากที่สุด
   
ปิดหน้าต่างนี้