บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะเซติลโคลีนเอสเตอเรสของพืชสมุนไพรบางชนิด
โดย : วรางคณา ค่ำคูณ และ กนกวรรณ หาญชัย
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร. ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์ และ ดร.นุตติยา วีระวัธนชัย
คำสำคัญ : โรคอัลไซเมอร์ ฤทธิ์ยับยั้งอะซิติลโคลีนเอสเตอเรส อัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ฟินอลิค
   
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบชุกในกลุ่มโรคสมองเสื่อมในวัยชรา สาเหตุของโรคเกิดจากการสะสมของแอมีลอยด์ พลากส์ นิวโรไฟบริลารี่ แทงเกล อนุมูลอิสระ และการลดลงของอะซิติลโคลีนในสมอง ปัจจุบันได้มีการนำสารจากพืชมาใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ ในการศึกษาครั้งนี้จึงนำสารสกัดหยาบชั้นเมธานอลจากพืช 9 ชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ มะห้อ หางกระรอกแดง มะยมป่า คัดเค้าเครือ มะเยาเหลี่ยม น้ำนมราชสีห์ ไคร้น้ำ เข็มพระราม และhongzhiya pa teng มาศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเตอเรส วัตถุประสงค์: เพื่อทดสอบฤทธิ์ต้านเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเตอเรสและตรวจสอบกลุ่มสารสำคัญของสารสกัดพืชทั้ง 9 ชนิด วิธีการดำเนินการวิจัย: ทดสอบฤทธิ์ต้านเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเตอเรสด้วยเครื่องมือไมโครเพลต รีดเดอร์ วิเคราะห์ปริมาณอัลคาลอยด์ ปริมาณสารฟลาโวนอยด์ และปริมาณสารประกอบฟินอลิคทั้งหมดของสารสกัดหยาบชั้นเมธานอลของพืชสมุนไพรทั้ง 9 ชนิดด้วยวิธีสเปคโตโฟโตเมทรี ผลการวิจัย:จากการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเตอเรสของสารสกัดพืชทั้ง 9 ชนิดที่ความเข้มข้น 100 µg/ml พบว่าสารสกัดหยาบจากต้นไคร้น้ำมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ได้สูงสุด (ร้อยละ 59.13±2.11) สารมาตรฐาน Eserineยับยั้งได้ร้อยละ 98.80±1.44 ที่ความเข้มข้นเดียวกัน จากการทดสอบหาปริมาณสารสำคัญในพืชพบว่า ต้นน้ำนมราชสีห์มีปริมาณสารอัลคาลอยด์สูงสุดเท่ากับ 21.69±6.36mg/g ต้นเข็มพระรามมีปริมาณสารฟลาโวนอยด์สูงสุดเท่ากับ 54.02±1.55mg/g ขณะที่ต้นหางกระรอกแดงมีสารประกอบฟินอลิคทั้งหมดสูงสุดเท่ากับ 118.20±4.76mg/gสรุปผล: สารสกัดจากต้นไคร้น้ำมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเตอเรสสูงที่สุด น้ำนมราชสีห์มีปริมาณสารอัลคาลอยด์สูงที่สุด เข็มพระรามมีปริมาณสารฟลาโวนอยด์สูงที่สุดและต้นหางกระรอกแดงมีสารประกอบฟินอลิคทั้งหมดสูงที่สุด
   
ปิดหน้าต่างนี้