บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ผลของวิธีการทำแห้งและสารที่ระเหิดได้ต่อสมบัติของแผ่นฟิล์มจากแป้งเนื้อในเมล็ดมะขามและพอลิไวนิลแอลกอฮอล์
โดย : ณิศรา สุวรรณมาโจ และญาณิศา เขื่อนปัญญา
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ดร.ชลลัดดา พิชญาจิตติพงษ์ และ ผศ.ดร.วริษฎา ศิลาอ่อน
คำสำคัญ : เนื้อในเมล็ดมะขาม พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ การทำแห้ง สารที่ระเหิดได้
   
แป้งเนื้อในเมล็ดมะขามเป็นพอลิเมอร์ที่ได้จากธรรมชาติซึ่งมีความปลอดภัยในการนำมาใช้ในทางเภสัชกรรม เช่น การนำมาทำเป็นแผ่นฟิล์ม แต่แผ่นฟิล์มที่ได้มีความแข็งแรงต่ำ ส่วนพอลิเมอร์ที่ได้จากการสังเคราะห์ ได้แก่ พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ มีคุณสมบัติทำให้แผ่นฟิล์มมีความยืดหยุ่น แต่มีความสามารถในการดูดน้ำต่ำ ดังนั้นการผสมแป้งเนื้อในเมล็ดมะขามกับพอลิไวนิลแอลกอฮอล์จึงเป็นการช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของแผ่นฟิล์มให้ดีขึ้นวัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของวิธีการทำแห้งและสารที่ระเหิดได้ต่อสมบัติของแผ่นฟิล์มจากแป้งเนื้อในเมล็ดมะขามและพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ วิธีดำเนินการวิจัย:ผสมแป้งเนื้อในเมล็ดมะขามและพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ในสัดส่วน 3:5 และ 2:6 ละลายในน้ำกลั่นโดยให้ความร้อนที่อุณหภูมิ80๐Cเติมกลีเซอรีนและสารที่ระเหิดได้ เช่น แคมเฟอร์ และ แอมโมเนียมไบคาร์บอเนตนำไปทำเป็นแผ่นฟิล์มโดยการเทและนำมาทำแห้งด้วย 3 วิธีคือ ตู้อบไมโครเวฟที่กำลัง 450 วัตต์ นาน15 นาที ตู้อบลมร้อนอุณหภูมิ 80 ๐C นาน 2ชั่วโมง และการทำแห้งแบบเย็นสลับร้อนโดยการแช่แข็งที่อุณหภูมิ -20๐C นาน 24 ชั่วโมง แล้วนำมาเข้าตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 80๐Cนาน2 ชั่วโมง สารละลายฟิล์มและแผ่นฟิล์มที่ได้จะถูกนำมาทดสอบหาค่าความเป็นกรดด่างความหนืดความหนา การพองตัว และเวลาการแตกตัวผลการวิจัย:การใช้คลื่นรังสีจากไมโครเวฟเป็นวิธีที่เหมาะสมในการทำแห้งของแผ่นฟิล์มจากแป้งเนื้อในเมล็ดมะขามและพอลิไวนิลแอลกอฮอล์เนื่องจากทำให้ได้แผ่นฟิล์มที่เป็นเนื้อเดียวกัน การเติมแอมโมเนียมไบคาร์บอเนตทำให้ค่าความเป็นกรดด่างของสารละลายฟิล์มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการเติมแคมเฟอร์ และแผ่นฟิล์มที่ได้มีการพองตัวที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่จะส่งผลต่อเวลาที่ใช้ในการแตกตัวเล็กน้อยสรุปผล:แผ่นฟิล์มจากแป้งเนื้อในเมล็ดมะขามและพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ที่เติมแอมโมเนียมไบคาร์บอเนตและการทำแห้งแบบไมโครเวฟทำให้ได้แผ่นฟิล์มที่มีคุณสมบัติดีที่สุด
   
ปิดหน้าต่างนี้