บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การเตรียมระบบนำส่งยาชนิดอิมัลชันที่เกิดขึ้นเองในรูปแกรนูลแห้งของไอบูโพรเฟน
โดย : เอมอัชนา นนทะวงษ์ อภิชาติ ปรีดาภิรัตน์ ศิริรัตน์ จำนงค์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : วริษฎา ศิลาอ่อน
คำสำคัญ : ระบบนำส่งยาชนิดอิมัลชันที่เกิดขึ้นเอง, ไอบูโพรเฟน, ยาละลายน้ำยาก
   
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ เพื่อพัฒนาระบบนำส่งยาชนิดอิมัลชันที่เกิดขึ้นเองให้อยู่ในรูปผงแห้ง ซึ่งใช้ยาไอบูโพรเฟนเป็นยาต้นแบบ ระบบ SEDDS ของยาไอบูโพรเฟนที่เหมาะสมประกอบด้วยยา 0.4 กรัม Medium chain triglyceride (Tricaprylin และ Lexol GT 865) และ Polysorbate 80 ในอัตราส่วน 1=1 ซึ่งเป็นวัตภาคน้ำมันและสารลดแรงตึงผิวตามลำดับ เมื่อนำ SEDDS มากระจายในน้ำพบว่าสามารถเกิดเป็นอิมัลชันได้อย่างรวดเร็ว มีขนาดของหยดอิมัลชันเล็กประมาณ 62-74 นาโนเมตร มีการกระจายขนาดแคบ (Polydispersity Index0.175-0.210) กระบวนการทำแห้งที่เลือกใช้มี 2 วิธีคือการดูดซับบนอนุภาคของแข็งและการกระจายในพอลิเมอร์ที่ชอบน้ำ (PEG) ในกรณีของการดูดซับ SEDDS ด้วยอนุภาคของแข็ง (AdSEDDS) พบว่า Silicon dioxide สามารถดูดซับ SEDDS ได้ดีที่สุด แต่จะให้ค่าการไหลที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ Veegum ส่วนการกระจายในพอลิเมอร์ที่ชอบน้ำเตรียมโดยนำ PEG6000 และ PEG3350 มาหลอมแล้วกระจายตัวยาลงไปในพอลิเมอร์ (SSEDDS) ผลการวิเคราะห์ด้วยเครื่อง X-ray diffractometer ของยาไอบูโพรเฟนแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติโครงสร้างของยาที่เป็นรูปผลึก แต่ไม่พบลักษณะเฉพาะของยาใน SSEDDS แสดงว่าโมเลกุลของยา ละลายเข้าไปแทรกอยู่ในเนื้อของ PEG ในรูปของผลึกอสัณฐาน ในขณะที่ผล DSC thermogram ของ AdSEDDS และ SSEDDS แสดงลักษณะกราฟเฉพาะของอนุภาคของแข็งที่ใช้ดูดซับและ PEG โดยไม่ปรากฎกราฟที่ตำแหน่งเฉพาะของยาซึ่งชี้ให้เห็นว่ายาเปลี่ยนแปลงเป็นรูปอสัญฐานได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน สำหรับการวิเคราะห์หาค่าคุณสมบัติการละลาย (in vitro) พบว่า SSEDDS สามารถเพิ่มการละลายได้มากกว่าเมื่อเทียบกับ AdSEDDS, Physical mixture และยาเดี่ยว โดยสรุปแล้วการใช้วิธีการดูดซับ SEDDS บนอนุภาคของแข็ง และการกระจาย SEDDS ในพอลิเมอร์ที่ชอบน้ำสามารถที่จะเพิ่มความสามารถในการละลายของยาที่ละลายน้ำได้ยากโดยการเปลี่ยนแปลงการจัดเรียงตัวของรูปผลึกยาและการเกิดนาโนอิมัลชันหรือการละลายของอนุภาคทันทีเมื่อสัมผัสกับตัวกลาง
   
ปิดหน้าต่างนี้