บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมระดับ INR และการเกิดภาวะเลือดออกในผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินในโรงพยาบาลวารินชำราบ
โดย : ทิพย์วาณี ธัญญะวัน และพิทยาธร โยมศรีเคน
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา :  อ. พีรวัฒน์ จินาทองไทย และดร.ศักดิ์สิทธิ ศรีภา
คำสำคัญ : วาร์ฟาริน ปัจจัย ควบคุมINR TTR
   
ยาวาร์ฟารินเป็นยาที่มีดัชนีในการรักษาแคบต้องติดตามการรักษาโดยควบคุมค่า INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมายเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและปลอดภัย มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินส่งผลให้การควบคุมค่า INR ทำได้ยาก วัตถุประสงค์:การศึกษาภาคตัดขวางชนิดวิเคราะห์นี้มีขึ้นเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมค่าการแข็งตัวของเลือดและการเกิดเลือดออกในผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน วิธีการดำเนินการวิจัย:กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินในโรงพยาบาลวารินชำราบ ระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2558 –พฤษภาคม พ.ศ.2559 โดยเก็บข้อมูลจากเวชระเบียน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกผลการวิจัย:ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษา60 ราย ส่วนใหญ่มีข้อบ่งใช้ของยาวาร์ฟารินคือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วร่วมกับโรคลิ้นหัวใจผิดปกติคิดเป็นร้อยละ 46.7โดยร้อยละ 83.3 ต้องการค่า INR เป้าหมายอยู่ที่ 2.0-3.0 ซึ่งร้อยละ 36.7 ของกลุ่มตัวอย่างมีค่า TTR ที่มากกว่าร้อยละ 60ผลการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกเชิงพหุถึงปัจจัยที่มีผลต่อค่า TTR พบว่า การใช้ยาอื่นร่วมมากกว่า 3 ชนิด มีผลต่อค่า TTR ที่น้อยกว่าร้อยละ 60 เทียบกับการใช้ยาอื่นร่วมไม่เกิน 3 ชนิด (OR=50.156, p=0.031) และพบว่าสัดส่วนเพศหญิงเทียบกับสัดส่วนเพศชายที่เกิดภาวะเลือดออกมีค่า 38.7% และ 10.3% ตามลำดับ (OR=5.474, p=0.011) สัดส่วนผู้ป่วยที่มี GFR<60 ml/min/1.73m2เทียบกับสัดส่วนผู้ป่วยที่มี GFR>60ml/min/1.73m2ที่เกิดภาวะเลือดออกมีค่า 46.7% และ 18.6% ตามลำดับ (OR=3.828, p=0.033) สรุปผล:การใช้ยาอื่นร่วมมากกว่า 3 ชนิดเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมระดับ INRให้อยู่นอกช่วงเป้าหมาย ในขณะที่เพศหญิงและGFR<60 ml/min/1.73m2อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเลือดออกจากการใช้ยาวาร์ฟาริน ผลดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้พัฒนาการดูแลผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการรักษาด้วยยาวาร์ฟารินได้
   
ปิดหน้าต่างนี้