บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษาอุบัติการณ์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยากลุ่มยาปฏิชีวนะชนิดฉีด จาก ADRs System โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง
โดย : สริญญา นาคดี และ สุวพีร์ มนตรีโพธิ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.แสวง วัชระธนกิจ และ ผศ.ดร.น้องเล็ก คุณวราดิศัย
คำสำคัญ : อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ADRs), ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด และ อุบัติการณ์
   
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse drug reactions, ADRs) เป็นปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วยc]tความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น วัตถุประสงค์: เพื่อหาอุบัติการณ์ของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปฏิชีวนะแบบฉีดในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2558 วิธีดำเนินการวิจัย: การศึกษาแบบย้อนหลังนี้เก็บข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาล เครื่องมือที่ใช้คือแบบเก็บข้อมูลและแบบประเมินความสัมพันธ์ระหว่าง ADRs กับยาที่สงสัย (Naranjo’s algorithm) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ผลการวิจัย: พบผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะชนิดฉีดทั้งสิ้น 10,121 ราย เกิด ADRs 57 ราย คิดเป็นอุบัติการณ์ของอาการไม่พึงประสงค์ 563.19 ราย ต่อ 100,000 ประชากร เมื่อพิจารณาร้อยละของ ADRs จากเหตุการณ์ทั้งหมดแบ่งตามกลุ่มยาได้ดังนี้ ADRs จากกลุ่มยา Cephalosporins61.40% (35 ราย) Penicillins14.04% (8 ราย) Fluoroquinolone7.02% (4 ราย) และ Macrolides 7.02% (4 ราย) เมื่อจำแนกประเภทของ ADRs ตามระบบของร่างกายพบว่าการเกิด ADRs สูงสุดในระบบผิวหนังคิดเป็น80.70% (46 ราย) รองลงมาคือระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 7.02% (4 ราย) เมื่อจำแนกตามระดับความรุนแรงของ ADRs พบการเกิด ADRs ที่ไม่ร้ายแรง 80.07% (46 ราย) เพิ่มระยะเวลาการรักษา 14.03% (8 ราย) ทำให้ไร้ความสามารถ3.51% (2 ราย) และอันตรายถึงชีวิต 1.75% (1 ราย) เมื่อจำแนก ADRs ที่เกิดขึ้นตามระดับความสัมพันธ์กับยาที่สงสัยจะพบว่า ความสัมพันธ์ของ ADRs ที่เกิดขึ้นกับยาปฏิชีวนะที่สงสัยจัดอยู่ในกลุ่ม “อาจจะใช่” คิดเป็น 15.79% (9 ราย) และกลุ่ม “น่าจะใช่” คิดเป็น 84.21% (48 ราย) สรุปผล: จากผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การใช้ยาปฏิชีวนะแบบฉีดในกลุ่ม Cephalosporinsมีอุบัติการณ์การเกิด ADRs สูงสุดเมื่อเทียบกับยาปฏิชีวนะอื่น ดังนั้นการเพิ่มความระมัดระวังและระบบการตรวจสอบการเกิด ADRs จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียต่อผู้ป่วยได้
   
ปิดหน้าต่างนี้