บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การเปรียบเทียบองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพระหว่างสารตั้งต้นแม่และยาเตรียมโฮมีโอพาธีย์จากดาวเรืองที่ปลูกในประเทศไทย
โดย : กนกพร บุญกาญจน์วนิชา กฤตยาพร ไชยรัตน์ เมฐิญา โพธิ์งาม
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : วันดี รังสีวิจิตรประภา ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา ไชยวัฒน์ ไชยสุต
คำสำคัญ : โฮมีโอพาธีย์, ฤทธิ์ต้านจุลชีพ, ฤทธิ์บรรเทาอาการปวด, ดาวเรืองฝรั่ง, ดาวเรืองอเมริกัน
   
วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ เพื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพระหว่างสารตั้งต้นแม่และยาเตรียมโฮมีโอพาธีย์จากดาวเรืองที่ปลูกในประเทศไทย สารตั้งต้นแม่และยาเตรียมโฮมีโอพาธีย์ที่เพิ่มความแรงด้วยการเจือจางเตรียมจากดาวเรือง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ดาวเรืองฝรั่งสีส้ม (Orange Calendula officinalis), ดาวเรืองฝรั่งสีเหลือง (Yellow Calendula officinalis), ดาวเรืองอเมริกันสีส้ม (Orange Tagetes erecta) และ ดาวเรืองอเมริกันสีเหลือง (Yellow Tagetes erecta) โดยวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและความคงตัวของสารตั้งต้นแม่ ด้วยเทคนิค Thin Layer Chromatography (TLC) และ High Pressure Liquid Chromatography (HPLC) โดยใช้ Lutein เป็นตัวชี้วัด และการศึกษาฤทธิ์ชีวภาพของยาเตรียมโฮมีโอพาธีย์ ทั้งฤทธิ์ต้านจุลชีพต่อเชื้อจุลชีพทดสอบ 6 ชนิด คือ Staphylococcus aureus, Staphylococcus epidemidis, Bacillus cereus, Bacillus subtilis, Enterococcus faecalis and Pseudomonas aeruginosa ด้วยเทคนิค agar diffusion method และฤทธิ์บรรเทาอาการปวดในหนูทดลอง ด้วยวิธี Tail-flick test ผลการวิจัยพบว่า ดาวเรืองอเมริกันมีความคงตัวถึง 40 วัน ในขณะที่สารตั้งต้นแม่ของดาวเรืองฝรั่งมีความคงตัวเพียง 7 วัน สำหรับฤทธิ์ชีวภาพนั้น ยาเตรียมโฮมีโอพาธีย์ทุกตัวไม่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ แต่มีฤทธิ์ต้านการปวด โดยยาเตรียมโฮมีโอพาธีย์จากดาวเรืองฝรั่ง (30 CH) ทำให้หนูทนความเจ็บปวดได้ดีกว่าการได้รับยา Tramadol hydrochloride และ สารตั้งต้นแม่ของดาวเรืองฝรั่ง ส่วนยาเตรียมโฮมีโอพาธีย์จากดาวเรืองอเมริกันไม่พบฤทธิ์นี้ จึงสรุปได้ว่าดาวเรืองฝรั่งที่ปลูกในประเทศไทยสามารถพัฒนาเป็นตำรับยา โฮมีโอพาธีย์บรรเทาอาการปวดได้
   
ปิดหน้าต่างนี้