บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การศึกษามุมมองของเภสัชกรร้านยาต่อผลกระทบกับวิชาชีพเภสัชกรรมชุมชนในยุค AEC
โดย : ภัทรวดี อานแดง และ สาวิตรี เจ๊กรวย
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร.สัมมนา มูลสาร , ผศ.ดร.น้องเล็ก คุณวราดิศัย และผศ.ดร.แสวง วัชระธนกิจ
คำสำคัญ : เสรีอาเซียน, เภสัชกรรมชุมชน, ปัจจัยทางการตลาด, ร้านขายยา
   
การเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AEC) ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงในธุรกิจต่างๆ รวมถึงร้านยาซึ่งอาจได้รับผลกระทบในด้านปัจจัยทางการตลาด (5Ps) รวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายของสภาเภสัชกรรมภายหลังการเปิดการค้าเสรี วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความคิดเห็นของเภสัชกรร้านยาต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับวิชาชีพเภสัชกรรมชุมชนหลังเปิดการค้าเสรีอาเซียน ในด้านผลิตภัณฑ์ (Product), ราคา (Price), สถานที่ (Place), การส่งเสริมการตลาด (Promotion) และบุคลากร(People) และเพื่อศึกษาการปรับตัวของร้านยารวมถึงความตระหนักถึงนโยบายของสภาเภสัชกรรม วิธีดำเนินการวิจัย: เก็บข้อมูลโดยส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์และการตอบแบบสอบถามออนไลน์ในกลุ่มตัวอย่างคือ เภสัชกรร้านยาคุณภาพ จำนวน 246 ร้าน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ผลการวิจัย: มีผู้ตอบแบบสอบถามกลับจำนวน 132 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 53.7 จากผลการวิจัยพบว่าปัจจัยทางการตลาดที่มีผลกระทบต่อวิชาชีพเภสัชกรรมชุมชนในยุค AEC เรียงตามลำดับได้ดังนี้ 1)บุคลากร 2)การส่งเสริมการตลาด 3)ผลิตภัณฑ์ 4)สถานที่ 5)ราคา คิดเป็นค่าคะแนน 1.99±1.11, 1.79±1.03, 1.70±0.93, 1.67±0.95 และ1.60±0.88 ตามลำดับ (คะแนนเต็ม 5) โดยปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ามีอิทธิพลต่อวิชาชีพมากที่สุดในยุค AEC คือ ความสามารถของเภสัชกรในการพูดได้มากกว่า 1 ภาษา คิดเป็นคะแนน 2.62±1.33 ในส่วนของการปรับตัวของร้านยาพบว่ากลุ่มตัวอย่างเน้นเรื่องของบุคลากรมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 37.9 โดยมีการพัฒนาด้านภาษาและการสื่อสาร ร้อยละ 31.1 ในด้านความตระหนักถึงนโยบายของสภาเภสัชกรรมพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 97.7 ปฏิบัติตาม GPP สรุปผล: เภสัชกรร้านยาคุณภาพมีความเห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังเปิดการค้าเสรี AEC ในด้านปัจจัยทางการตลาดทั้ง 5 ด้านอยู่ในระดับที่ไม่มีอิทธิพลหรือมีผลกระทบน้อยมากต่อวิชาชีพเภสัชกรรมชุมชน
   
ปิดหน้าต่างนี้