บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : พฤติกรรมการออกกำลังกายภายใต้แบบจำลองการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
โดย : ดุรงค์กร พลทม และ บุญฤทธิ์ สัตกุล
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ดร.สุทธาสินี สุวรรณกุล , ผศ.ดร.สุวรรณา ภัทรเบญจพล และดร.ทัดตา ศรีบุญเรือง
คำสำคัญ : นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีการออกกำลังกาย พฤติกรรมการออกกำลังกายแบบจำลองการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
   
แบบจำลองการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (Transtheoretical Model) ได้รับการยอมรับเพื่อใช้ศึกษาและส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมรวมทั้งพฤติกรรมออกกำลังกายวัตถุประสงค์:เพื่อศึกษาพฤติกรรมการออกกำลังกายของนักศึกษา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วยแบบจำลองการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ วิธีดำเนินการวิจัย:การวิจัยเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง เก็บข้อมูลนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ด้วยแบบสอบถาม ออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นตามแบบจำลองการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติคทวิในการวิเคราะห์ข้อมูล กำหนดระดับนัยสำคัญที่ αเท่ากับ 0.05 ผลการวิจัย:กลุ่มตัวอย่างรวม 347 คน เข้าร่วมการศึกษาโดยสมัครใจ พบว่าประมาณสามในสี่อยู่ในขั้นที่ขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยร้อยละ 41.20 อยู่ในขั้นเตรียมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร้อยละ 21.00อยู่ในขั้นมีความคิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และร้อยละ11.00อยู่ในขั้นก่อนมีความคิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่าคะแนนองค์ประกอบตามแบบจำลองการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ วัดในช่วงคะแนน 1 ถึง 4 พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยที่สูง(Mean ± SD)ทั้งการรับรู้ความสามารถของตนเอง (2.52 ± 0.54)ดุลยภาพการตัดสินใจ(3.07 ± 0.38)และกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (2.60 ± 0.48)ผลการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติคทวิ พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อขั้นความพร้อมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ เพศ ดุลยภาพการตัดสินใจ และกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเพศชายอยู่ในขั้นที่มีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสูงกว่าเพศหญิง (OR 2.26) คะแนนดุลยภาพการตัดสินใจ และคะแนนกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับขั้นที่มีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม(OR2.45 และ 3.74 ตามลำดับ)กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รายงานว่าอุปสรรคสำคัญในการออกกำลังกายเป็นปัญหาทางกายภาพ เช่น ความต้องการห้องน้ำ อุปกรณ์ออกกำลังกาย และความพร้อมของสถานที่ออกกำลังกายเป็นต้นสรุปผล:กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในขั้นที่ขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมพฤติกรรมการออกกำลังกายของนักศึกษาโดยจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับขั้นความพร้อมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยอาจเน้นที่กลุ่มนักศึกษาหญิง การให้ความรู้เพื่อส่งเสริมดุลยภาพการตัดสินใจ และกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
   
ปิดหน้าต่างนี้