บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ตัวชี้วัดคุณภาพการบริการภายหลังปรับปรุงกระบวนการบริบาลเภสัชกรรมในคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลวารินชำราบ
โดย : พิกรม อโศกบุญรัตน์ และ ปวิตรา บุญชรัสมิ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : อ.จีริสุดา คำสีเขียว และ อ.ธีระพงษ์ มนต์มธุรพจน์
คำสำคัญ : การบริบาลทางเภสัชกรรม เบาหวาน ปัญหาจากการใช้ยา
   
ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ได้มีการปรับปรุงกระบวนการบริบาลเภสัชกรรมในคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลวารินชำราบ จากเดิมที่ให้การดูแลผู้ป่วยภายหลังจากผู้ป่วยพบแพทย์ เป็นการบริบาลเภสัชกรรมเชิงรุก ประกอบกับโรงพยาบาลได้มีแนวทางเวชปฏิบัติโรคเบาหวานซึ่งพัฒนาและประกาศใช้ในโรงพยาบาล วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษา และเปรียบเทียบตัวชี้วัดคุณภาพบริการภายหลังปรับปรุงกระบวนการบริบาลเภสัชกรรมในคลินิกเบาหวาน ใน 3 มิติ ได้แก่ 1) ตัวชี้วัดคุณภาพกระบวนการ 2) ตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางคลินิก 3) ตัวชี้วัดปัญหาจากการใช้ยา วิธีดำเนินการวิจัย: ทำการศึกษาย้อนหลังจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาล เปรียบเทียบตัวชี้วัดคุณภาพบริการ ระหว่างปี พ.ศ.2557 และปี พ.ศ.2558 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS โดยเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างข้อมูลตัวแปรกลุ่มจะใช้สถิติMcNemar test และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างข้อมูลตัวแปรต่อเนื่อง จะใช้สถิติWilcoxon signed-rank test ผลการวิจัย: ภายหลังการปรับปรุงกระบวนการบริบาลทางเภสัชกรรม พบว่าตัวชี้วัดคุณภาพกระบวนการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ได้แก่ ร้อยละของการตรวจเท้า ร้อยละของการตรวจไขมันในเลือด ร้อยละของการตรวจคัดกรองโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ตลอดจนร้อยละของการได้รับยากลุ่ม ACEIs หรือARBs ในผู้ป่วยที่มีภาวะไมโครอัลบูมินนูเรีย โดยตัวชี้วัดคุณภาพบริการด้านผลลัพธ์ทางคลินิกและตัวชี้วัดปัญหาจากการใช้ยาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ได้แก่ HbA1c FBS LDL TG HDL BMI พบปัญหาจากใช้ยาสูงสุดสามอันดับได้แก่ ผู้ป่วยไม่ได้รับยาตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาและผู้ป่วยได้รับยาที่ไม่เหมาะสม สรุปผล: การปรับปรุงกระบวนการบริบาลเภสัชกรรมในคลินิกเบาหวาน ทำให้เภสัชกรมีโอกาสได้แก้ไขปัญหาการใช้ยาในผู้ป่วยเฉพาะรายที่มากขึ้น ทำให้ตัวชี้วัดคุณภาพบริการ ทั้งตัวชี้วัดคุณภาพกระบวนการ และผลลัพธ์ทางคลินิกดีขึ้น
   
ปิดหน้าต่างนี้