บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ผลของการประยุกต์ใช้ INHOMESSS ในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเบาหวานโดยนักศึกษาเภสัชศาสตร์
โดย : จันทร์จิรา ไวยโภชน์ และ โชติกานต์ อุ่นโรจน์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : อ.จิริสุดา คำสีเขียว และ อ.ศิศิรา ดอนสมัคร
คำสำคัญ : INHOMESSS, เบาหวาน, เยี่ยมบ้าน
   
INHOMESSS เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเยี่ยมบ้านที่ใช้ในเวชศาสตร์ครอบครัว เนื่องจากเป็นการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ใน 4 มิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณวัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการประยุกต์ใช้ INHOMESSS ในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเบาหวาน โดยนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในรายวิชาเภสัชกรรมชุมชน ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2558 วิธีดำเนินงานวิจัย : ทบทวนเอกสารย้อนหลังจากแฟ้มรายงาน INHOMESSS ของผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 43 ราย ใช้สถิติเชิงพรรณนาสำหรับข้อมูลเชิงปริมาณและใช้การวิเคราะห์เนื้อหาสำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการวิจัย : มิติด้านร่างกายพบว่าผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูงร่วม จำนวน 18 คน (ร้อยละ 41.86) ผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยของดัชนีบาร์เธลเอดีแอลเป็น 19.67 คะแนน ซึ่งจัดว่ามีความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจําวันระดับสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้ยา Metformin ร่วมกับยา Glipizide (ร้อยละ 27.91) ปัญหาที่พบมากที่สุดคือปัญหาด้านยา (ร้อยละ 79.07) โดยเฉพาะปัญหาความร่วมมือในการใช้ยา(ร้อยละ 65.12) รองลงมาคือปัญหาด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมด้านอาหาร (ร้อยละ 62.79) โดยปัญหาดังกล่าวได้ถูกแก้ไขและมีปัญหาลดลงในการเยี่ยมบ้านครั้งถัดมา ด้านสังคมพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการสนับสนุนทางสังคม โดยส่วนใหญ่มีแหล่งสนับสนุนทางการเงินและมีการมอบฉันทะไว้แก่คนในครอบครัว แต่ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่มีปัญหาเรื่องของการเดินทางเข้าถึงสถานบริการสาธารณสุขจากปัญหาด้านทุนทรัพย์ ด้านจิตใจและจิตวิญญาณพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.70 มีทัศนคติต่อโรคที่ดี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.49 คิดว่าโรคเบาหวานรักษาไม่หาย จำเป็นที่ต้องใช้ยาและสามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวที่ดี แต่มีผู้ป่วยร้อยละ 18.6 เบื่อหน่ายกับการรักษาและหดหู่กับสภาวะโรคที่เป็น โดยมีผู้ป่วยร้อยละ 9.3 ที่มีความกลัวผลที่จะตามมาจากยานอกจากนี้ มีผู้ป่วย 1 ราย (ร้อยละ 2.32)ที่มีทัศนคติด้านลบถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่สรุปผล :ข้อมูลสภาวะผู้ป่วยในเชิงมิติสุขภาพองค์รวมถูกรายงานได้ดีจากการประยุกต์ใช้ INHOMESSS ในการเยี่ยมบ้าน แต่ยังพบข้อจำกัดบางประการ เช่น ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วยและความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางคลินิกเพื่อบูรณาการกับเครื่องมือ INHOMESSSของนักศึกษา
   
ปิดหน้าต่างนี้