บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : กลุ่มสารที่มีฤทธิ์ลดการสร้างเมลานินและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากใบ กระดังงาจีน (Artabotrys hexapetalus)
โดย : จำเนียร โสมณวัฒน์ นุสรณ์ แถลงศรี สายใจ ดีพลงาม
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์ นุตติยา วีระวัธนชัย
คำสำคัญ : Artabotrys hexapetalus, Annonaceae, Tyrosinase inhibition, DPPH
   
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลุ่มสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานินและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากใบกระดังงาจีน โดยนำสารสกัดจากใบกระดังงาจีนในชั้นเฮกเซน เอธิลอะซีเตตและเมธานอล มาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ผลการศึกษาสารสกัดหยาบชั้นที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส คือสารสกัดชั้นเอธิลอะซีเตต (%tyrosinase inhibition 24.37±13.62) สารสกัดชั้นเมธานอล แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH โดยมี %DPPH inhibition 46.57±1.38 จากนั้นนำสารสกัดชั้นเอธิลอะซีเตต และเมธานอล ไปแยกให้เป็นส่วนสกัดด้วยคอลัมน์ โครมาโตกราฟี และทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH พบว่า ส่วนสกัด AHM 2, 6 และ 7 แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสดี โดยมี %tyrosinase inhibition ดังนี้คือ 37.50±1.85, 40.15±4.81 และ 43.60±7.49 ตามลำดับ และแสดง %DPPH inhibition ดังนี้คือ 31.95±1.36, 21.48±8.89 และ 40.54±1.18 ตามลำดับ จากนั้นแยกส่วนสกัด AHM 2, 6 และ 7 ต่อ และทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่าส่วนสกัดย่อย AHM 7-1 แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ดีที่สุด (%tyrosinase inhibition 29.58±3.57) ส่วนสกัดย่อย AHM 6-4 แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีที่สุด (%tyrosinase inhibition 79.01±7.45) จากนั้นศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของ AHM 6-4 และ 7-1 ด้วย TLC พ่นด้วยน้ำยา dragendorff, vanillin - sulfuric acid และ ferric chloride พบว่าให้ผลบวกกับ ferric chloride ทำให้ทราบเบื้องต้นว่า AHM 6-4 และ 7-1 ประกอบด้วยสารกลุ่ม phenolic
   
ปิดหน้าต่างนี้