บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ต้นทุนและประสิทธิผลภายหลังปรับปรุงกระบวนการบริบาล เภสัชกรรมในคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลวารินชำราบ
โดย : ปุณยวีร์ เทพเทวสันติ์ และ สุทธิภัทร ปานรัตน์
ชื่อปริญญา : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา : ธนัฎชา สองเมือง อนัญญา สองเมือง ศักดิ์สิทธิ์ ศรีภา และ จิริสุดา คำสีเขียว
คำสำคัญ : การบริบาลทางเภสัชกรรม, ต้นทุน-ประสิทธิผล, ต้นทุน, ประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน
   
ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ได้มีการปรับปรุงกระบวนการบริบาลเภสัชกรรมในคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลวารินชำราบ เป็นการบริบาลเภสัชกรรมเชิงรุกในผู้ป่วยเฉพาะราย โดยการศึกษาเบื้องต้นพบผลลัพธ์ทางคลินิกที่ดีขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลด้านต้นทุนที่เกิดจากกระบวนการดังกล่าว วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาต้นทุนและประสิทธิผล ภายหลังการปรับปรุงกระบวนการดังกล่าว วิธีการดำเนินการวิจัย: ศึกษาย้อนหลังจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลในผู้ป่วยเบาหวาน โดยศึกษาผลลัพธ์ทางคลินิกและต้นทุนในมุมมองของผู้ให้บริการ เปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2557 และปี พ.ศ. 2558 วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างข้อมูลตัวแปรกลุ่มและตัวแปรต่อเนื่อง ด้วยสถิติ McNemar และ Wilcoxon signed-rank ผลการศึกษาวิจัย: ภายหลังปรับปรุงกระบวนการ พบว่าต้นทุนรวมต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในหลายตัวแปร แต่ต้นทุนรวมต่อคนต่อปีของการดูแลผู้ป่วยที่มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ < 300 มิลลิกรัม/วัน (microalbuminuria), คนที่ FBS เฉลี่ยอยู่ในช่วงเป้าหมาย (70 – 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) และคนที่เข้าห้องฉุกเฉินหรือนอนโรงพยาบาลด้วยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ด้านประสิทธิผลพบว่าผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในตัวแปรค่าเฉลี่ย HbA1C, ค่าเฉลี่ย FBS, สัดส่วนคนที่ FBS เฉลี่ยอยู่ในช่วงเป้าหมาย, การเกิดโปรตีนรั่วในปัสสาวะและการเข้าห้องฉุกเฉินหรือนอนโรงพยาบาลด้วยภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน ทั้งนี้เมื่อเทียบต้นทุนรวมต่อหนึ่งหน่วยประสิทธิผลในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานพบว่า ในผู้ป่วยที่มี FBS เฉลี่ยอยู่ในช่วงเป้าหมายและผู้ป่วยที่มี microalbuminuria มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เนื่องจากภายหลังการปรับปรุงกระบวนการบริบาลเภสัชกรรม มีต้นทุนที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานต่ำกว่า แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่า สรุปผลการวิจัย: การบริบาลเภสัชกรรมเชิงรุกในคลินิกเบาหวาน ทำให้เภสัชกรใช้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น การควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้น มีความคุ้มค่าทางสาธารณสุขในบริบทของผู้ป่วยที่มี FBS เฉลี่ยอยู่ในช่วงเป้าหมายและผู้ป่วยที่มี microalbuminuria ซึ่งมีต้นทุนที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานต่ำกว่า แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่า
   
ปิดหน้าต่างนี้