บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง :

การศึกษาฤทธิ์ของอนุพันธ์แคปไซซินต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง


โดย :

พงศธร จันทำ

 ศิวะพร อรไทวรรณ 

ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา :

พรทิพย์ ไววุฒิ

คำสำคัญ :

แคปไซซิน, อนุพันธ์ของแคปไซซิน, โรคมะเร็ง, โรคมะเร็งลำไส้

   

บทนำ:โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีความผิดปกติของการเจริญเติบโตของเซลล์โดยเซลล์มีการแบ่งตัวจำนวนมากและไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ยังมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย การรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัดในปัจจุบันมีผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อผู้ป่วย ดังนั้นจึงมีการคิดค้นยาต้านมะเร็งชนิดใหม่ ยาต้านมะเร็งหลายชนิดมีการพัฒนามาจากสารสำคัญจากธรรมชาติ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงสนใจที่จะศึกษาฤทธิ์ของอนุพันธ์ของแคปไซซิน (IC6) ที่มีโครงสร้างคล้ายกับแคปไซซินแต่มีการเพิ่มหมู่อินโดลเข้าไปเพิ่มเติมต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้เพื่อพัฒนาเป็นยารักษาโรคมะเร็งในอนาคต วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาฤทธิ์ของแคปไซซิน และอนุพันธ์ของแคปไซซิน(ไอซี6)ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ และเพื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของแคปไซซิน และอนุพันธ์ของแคปไซซิน(ไอซี6)ต่อวัฏจักรของเซลล์มะเร็งลำไส้และกระบวนการตายของเซลล์มะเร็งลำไส้ วิธีการดำเนินการวิจัย: เตรียมเซลล์มะเร็งที่ต้องการศึกษาโดยทำการเพาะเลี้ยงเซลล์ เอชที-29 และเติมสารสำคัญที่ต้องการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ คือ แคปไซซินและอนุพันธ์ของแคปไซซิน (ไอซี6) ความเข้มข้น1, 10, 100 ไมโครโมลาร์ โดยวัดอัตราการรอดชีวิตของเซลล์ด้วยวิธี MTT assay  หลังจากนั้นศึกษาผลของอนุพันธ์ของแคปไซซิน ความเข้มข้น 50, 100, 200 ไมโครโมลาร์ต่อลักษณะทางสัณฐานวิทยา, ความเป็นพิษต่อเซลล์ และตรวจสอบโปรตีนในกระบวนการตายของเซลล์ด้วยวิธี Western blot นอกจากนี้ยังศึกษาระยะต่าง ๆ ในวัฏจักรของเซลล์มะเร็งด้วยวิธี Flow cytometry ผลการศึกษาวิจัย: แคปไซซินและอนุพันธุ์ของแคปไซซินสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งลำไส้ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยอนุพันธ์ของแคปไซซินมีฤทธิ์ดีกว่าแคปไซซิน และพบว่าอนุพันธ์ของแคปไซซินสามารถยับยั้งการทำงานของโปรตีน pp-65, Mcl-1 และสามารถกระตุ้นการทำงานของโปรตีน Bax, pJNK, Cleaved caspase 3 และ pp38 ได้ นอกจากนี้ยังเหนี่ยวนำให้เกิดการหยุดวงจรของเซลล์ที่ระยะ G1 ของเซลล์มะเร็งลำไส้ได้ สรุปผลการวิจัย: จากการศึกษานี้พบว่าอนุพันธ์ของแคปไซซินสามารถยับยังการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอนุพันธ์ของแคปไซซินจะสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการตายของเซลล์มะเร็งลำไส้ผ่านโปรตีนในวิถีการตายของเซลล์  


   
ปิดหน้าต่างนี้