บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง :

การพัฒนาตำรับและประเมินแชมพูสำหรับผู้สูงวัย

โดย :

รภัสนีย์ เขตสกุล

 สิริเพ็ญ เจติยานนท์

ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา :

ธีราพร สุภาพันธุ์

ชลลัดดา พิชญาจิตติพงษ์ 

คำสำคัญ :

แชมพูผู้สูงวัย, ดอกคำฝอย, ใบบัวบก, กะเม็งตัวเมีย

   

บทนำ: ผู้สูงวัยมักพบปัญหาเกี่ยวกับสภาพเส้นผม เช่น ผมร่วง หนังศีรษะแห้ง ผมหงอก มีการรายงานว่าการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของสมุนไพรที่เหมาะสมอาจช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ในวิจัยนี้มีการนำสารสกัดดอกคำฝอยมาช่วยลดผมร่วง สารสกัดใบบัวบกช่วยแก้ปัญหาหนังศีรษะแห้ง และสารสกัดกะเม็งตัวเมียช่วยปิดผมหงอก การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาและประเมินตำรับแชมพูที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย โดยนำสรรพคุณของสมุนไพรมาช่วยเพิ่มคุณสมบัติของแชมพู วิธีการดำเนินการวิจัย: พัฒนาสูตรตำรับแชมพูที่มีส่วนผสมของสมุนไพรให้ได้ตำรับที่เหมาะสม จากนั้นนำไปประเมินลักษณะทางกายภาพ ความเป็นกรดด่าง (pH) และความหนืด โดยเปรียบเทียบความคงตัวของตำรับหลังเตรียมเสร็จและเมื่อเก็บไว้ 30 วันที่อุณหภูมิ 4°C, 30°C และ 45°C (75% humidity) รวมทั้งการทดสอบการติดสีของเส้นผมแล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ผลการศึกษาวิจัย: โลชันแชมพูที่เตรียมได้มีลักษณะเป็นเนื้อเนียนเรียบและมีสีเหลือง ด้านความเป็นกรดด่างหลังเตรียมเสร็จพบว่าตำรับ A มีค่า pH 6.41±0.11 ตำรับ B มีค่า pH 5.76±0.00 ซึ่งทั้งสองตำรับมีค่า pH อยู่ในช่วงที่กำหนด (pH 5.00-7.00) เมื่อเก็บไว้ที่สภาวะต่าง ๆ 30 วัน ค่า pH ของทั้งสองตำรับมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงที่กำหนด ยกเว้นตำรับ B เมื่อเก็บไว้ 30 วันที่อุณหภูมิ 4°C มีค่า pH 4.88±0.01 ซึ่งต่ำกว่าช่วงที่กำหนด ด้านความหนืดพบว่าตำรับ A และตำรับ B มีความหนืดอยู่ที่ 2,424.67±247.61 cps และ 2,119.00±156.35 cps ตามลำดับ แต่ตำรับ B เมื่อเก็บไว้ที่สภาวะต่าง ๆ 30 วัน มีแนวโน้มความหนืดเปลี่ยนแปลงมากกว่าตำรับ A ด้านการติดสีของเส้นผมพบว่าทั้งสองตำรับสามารถติดสีเส้นผมได้ใกล้เคียงกันแชมพูในท้องตลาด สรุปผลการวิจัย: จากการประเมินแชมพูทั้งสองตำรับพบว่าส่วนใหญ่ให้ผลใกล้เคียงกัน แต่ตำรับ A มีแนวโน้มคงตัวในด้าน pH และความหนืดมากกว่าตำรับ B ดังนั้นตำรับ A จึงเหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นแชมพูสำหรับผู้สูงวัยในอนาคต

   
ปิดหน้าต่างนี้