บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การทดสอบเบื้องต้นถึงผลของสารสกัดสมุนไพรไทย 5 ชนิด (โกฐจุฬาลัมพา, โกฐหัวบัว, โกฐพุงปลา, โกฐเขมา, เทียนเกล็ดหอย) ต่อการทำงานของเอนไซม์ CYP 3A4 จากตับหนูในหลอดทดลอง
โดย : สุนิสา แสงทอง อภัสรา ตรีเนตร
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : เบญจภรณ์ เศรษฐบุปผา สุทธาสินี สุวรรณกุล
คำสำคัญ : อันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยา, ไซโตโครมพี 450, CYP3A4, โกฐจุฬาลัมพา, โกฐหัวบัว, โกฐพุงปลา, โกฐเขมา, เทียนเกล็ดหอย
   
ปัจจุบันมีการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาใช้กันอย่างแพร่หลาย บางส่วนมีการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน จึงมีโอกาสทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาและสมุนไพรได้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลเบื้องต้นของสารสกัดสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ โกฐจุฬาลัมพา (Artemisia pallens), โกฐหัวบัว (Ligusticum chuanxiong), โกฐพุงปลา (Dischidia rafflesiana), โกฐเขมา (Atractylodes lancea) และเทียนเกล็ดหอย (Plantago ovata) ที่มีต่อการทำงานของเอนไซม์ไซโตโครมพี450ที่มีในไมโครโซมจากตับหนูเน้นที่ CYP3A4 ในหลอดทดลอง โดยศึกษาจากปฏิกิริยา 6--testosterone hydroxylation เมื่อใช้ testosterone เป็น substrate แล้วหาปริมาณ 6-TST ซึ่งเป็นเมตาบอไลท์ที่เกิดขึ้น เปรียบเทียบระหว่างหลอดทดลองที่ใส่และไม่ใส่ส่วนสกัดสมุนไพร ทำการวิเคราะห์หาปริมาณ 6-TST ด้วยเทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) จากนั้นคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ผลการทดลองพบว่าส่วนสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ที่มีผลยับยั้งการทำงานของ CYP3A4 ได้แก่ ส่วนสกัดของโกฐพุงปลา (25.76% และ 91.03%); ส่วนสกัดของโกฐจุฬาลัมพา (11.92% และ 76.90%) และส่วนสกัดของโกฐหัวบัว (11.48% และ 6.03%) สำหรับส่วนสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของเทียนเกล็ดหอยและโกฐเขมาไม่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ในหลอดทดลอง สำหรับส่วนสกัดเฮกเซน สมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 ได้แก่ โกฐหัวบัว (41.96%); โกฐพุงปลา (30.22%); โกฐจุฬาลัมพา (25.25%) และเทียนเกล็ดหอย (5.91%) ส่วนโกฐเขมาไม่มีผลยับยั้ง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าส่วนสกัดของโกฐจุฬาลัมพา,โกฐหัวบัว,โกฐพุงปลาและเทียนเกล็ดหอยมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ที่ระดับการยับยั้งแตกต่างกัน ขณะที่ส่วนสกัดของโกฐเขมาไม่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ในหลอดทดลอง
   
ปิดหน้าต่างนี้