บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง :

การศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี

โดย :

, ปวีณ์กร พงศ์ทิพากร

กาญจนา ซึ้งพุทธศาสน์

ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 6 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา :

มานิตย์ แซ่เตียว

 นนทิกุล ผาสุขมูล 

คำสำคัญ :

คุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งและญาติผู้ดูแล, เคมีบำบัด, EORTC QLQ-C30, WHOQOL-BREF-THAI

   

บทนำ: เคมีบำบัดเป็นยามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถเพิ่มอัตราการตอบสนองและการรอดชีวิต อย่างไรก็ตามอาการไม่พึงประสงค์เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระหว่างการรักษาและอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของญาติผู้ดูแล การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดและญาติผู้ดูแล วิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้า (Prospective cohort study) ในผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ณ หอผู้ป่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี และญาติผู้ดูแล ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม พ.ศ. 2562 ทำการศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตก่อนและหลังการรักษาในผู้ป่วยด้วยแบบประเมิน EORTC QLQ-C30 และญาติผู้ดูแลด้วยแบบประเมิน WHOQOL-BREF-THAI   ผลการศึกษา: ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้าการรักษามีจำนวนทั้งสิ้น 40 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 55) มีค่ามัธยฐานของอายุ 56±18 ปี ญาติผู้ดูแลมีจำนวนทั้งสิ้น 40 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 77.5) มีค่ามัธยฐานของอายุ 45±22 ปี ภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก่อนและหลังการรักษาไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามคุณภาพชีวิตด้านการทำหน้าที่หลังการรักษาลดลงโดยเฉพาะด้านบทบาทและด้านความคิดความเข้าใจ (p-value<0.05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คุณภาพชีวิตด้านอาการหลังการรักษาของผู้ป่วยลดลง ประกอบด้วยอาการอ่อนล้า คลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่เต็มอิ่ม นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ท้องผูก และท้องเสีย (p-value<0.05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คุณภาพชีวิตโดยรวมของญาติผู้ดูแลก่อนและหลังการรักษาไม่แตกต่างกัน ยกเว้นด้านสุขภาพกายหลังการรักษามีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.025) นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตโดยรวมของญาติผู้ดูแล (β=0.322, p-value=0.043) สรุปผลการวิจัย: ภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งภายหลังการรักษาลดลงในด้านการทำหน้าที่ รวมถึงมีบางอาการแย่ลง คุณภาพชีวิตของญาติผู้ดูแลภายหลังการรักษาลดลงในด้านสุขภาพกาย ภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมีความสัมพันธ์โดยตรงกับคุณภาพชีวิตโดยรวมของญาติผู้ดูแล

   
ปิดหน้าต่างนี้