บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง :

ประสิทธิผลและความพึงพอใจต่อโปรแกรมการเลิกบุหรี่โดยเภสัชกรในร้านยา

โดย :

กรกต ชัยยนต์

 อนุชา นิติธรรม

 

ชื่อปริญญา : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชา : การบริหารบริการสุขภาพ
อาจารย์ที่ปรึกษา :

ทวนธน บุญลือ

ศักดิ์สิทธิ์ ศรีภา

ประสิทธิชัย พูลผล 

คำสำคัญ :

ประสิทธิผล ความพึงพอใจ โปรแกรมการเลิกบุหรี่ เภสัชกรในร้านยา

   

บทนำ: เภสัชกรในร้านยามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ติดบุหรี่เข้าถึงบริการและนำไปสู่การเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลและวัดความพึงพอใจต่อโปรแกรมการเลิกบุหรี่โดยเภสัชกรในร้านยา วิธีการดำเนินการวิจัย: เป็นงานวิจัยเชิงทดลอง ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 23 ราย จากกลุ่มประชากรผู้สูบบุหรี่ที่มารับบริการที่ร้านยามหาวิทยาลัย ทำการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มโดยใช้การสุ่มแบบบล็อกเท่า ๆ กัน ได้แก่ กลุ่มที่ได้ยานอร์ทริปไทลีนและกลุ่มที่ได้หมากฝรั่งนิโคติน ทั้ง 2 กลุ่มได้รับคำปรึกษาและติดตามโดยเภสัชกรในร้านยา ประเมินประสิทธิผลที่เดือนที่ 1 หลังจากได้รับการบริการ โดยวัดจากปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ จำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และประเมินความพึงพอใจจากแบบสอบถามที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลจะแสดงข้อมูลออกมาในรูปแบบการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้สถิติ Chi-square test เปรียบเทียบสัดส่วนและใช้สถิติ t-test เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการวิจัย: พบว่าผู้ที่มีปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ < 10 ppm เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.33 ในกลุ่มที่ได้ยานอร์ทริปไทลีนและร้อยละ 45.45 ในกลุ่มที่ได้หมากฝรั่งนิโคติน (p = 0.582) จำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวันเปรียบเทียบเดือนที่ 1 กับวันเริ่มการให้บริการพบว่าลดลง 10.92 ± 6.79 (p < 0.001) ในกลุ่มนอร์ทริปไทลีน และ 11.18 ± 5.08 มวน (p < 0.001) ในกลุ่มหมากฝรั่งนิโคติน แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม (p = 0.917) อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาพบร้อยละ 75.00 และ 27.27 ในกลุ่มนอร์ทริปไทลีนและกลุ่มหมากฝรั่งนิโคติน ตามลำดับ (p = 0.022) ผลการประเมินความพึงพอใจจากการใช้ยาทั้งสองกลุ่มอยู่ในระดับดีถึงดีมาก สรุปผลการวิจัย: ประสิทธิผลและความพึงพอใจของโปรแกรมการเลิกบุหรี่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มและพบการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในกลุ่มนอร์ทริปไทลีนมากกว่าหมากฝรั่งนิโคตินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ทั้งสองกลุ่มไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง

   
ปิดหน้าต่างนี้