บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของส่วนสกัดของต้นนมแมวและนมแมวแดง
โดย : จินตรา กองอิ้ม ดาระณี เขตเจริญ วัณนิตา วรรณสุทธิ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : ทวีศักดิ์ จึงวัฒนตระกูล ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์
คำสำคัญ : นมแมว นมแมวแดง ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส
   
การศึกษานี้ได้ทำการสกัดและทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของส่วนสกัดนมแมวและนมแมวแดง ส่วนต่างๆ ของนมแมวและนมแมวแดงถูกหมักด้วยตัวทำละลาย เฮกเซน เอธิลอะซีเตต และเมทานอล ตามลำดับ จากนั้นทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH, ABTS และ Reducing power และฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส จากผลการศึกษาสารสกัดหยาบจากพืชทั้ง 2 ชนิดที่ระดับความเข้มข้น 1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร พบว่าส่วนที่มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุดคือ สารสกัดจากใบนมแมวในชั้นเมทานอลเมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH เท่ากับ 97.60±0.75 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่วิตามินซีเท่ากับ 97.43±0.24 เปอร์เซ็นต์ และ สารสกัดจากดอกนมแมวในชั้นเมทานอลเมื่อทดสอบด้วยวิธี ABTS และ Reducing power เท่ากับ 87.50 ± 0.91 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่วิตามินซี เท่ากับ 97.31±0.29 เปอร์เซ็นต์ และ ค่า Reducing power เท่ากับ 6528.46 ± 152.61 ตามลำดับ และฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสสูงสุด คือ สารสกัดจากดอกนมแมวในชั้นเมทานอล เท่ากับ 53.99 ± 4.23 เปอร์เซ็นต์ขณะที่กรดโคจิกซึ่งเป็นสารมาตรฐานเท่ากับ 86.67 ± 2.37 เปอร์เซ็นต์ จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าที่ความเข้มข้น 1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สารสกัดจากดอกนมแมวในชั้นเมทานอล และสารสกัดจากใบนมแมวในชั้นเมทานอล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระแรงเทียบเท่าวิตามินซี และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้น้อยกว่ากรดโคจิก
   
ปิดหน้าต่างนี้