บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาความคงตัวของเอนไซม์ปาเปนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางด้าน การแพทย์และเครื่องสำอาง
โดย : ศรินทิพย์ เดชสะท้าน ศศิธร ปานสมสวย
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : วันดี รังสีวิจิตรประภา
คำสำคัญ : เอนไซม์ปาเปน ความคงตัว สารประกอบเชิงซ้อนไฮดรอกซีโพรพิล-เบต้า- ไซโคลเด็กตริน นีโอโซม
   
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาความคงตัวของเอนไซม์ปาเปน โดยวิธีการทำเป็นสารประกอบเชิงซ้อนกับไฮดรอกซีโพรพิล-เบต้า-ไซโคลเด็กตริน และ วิธีการนำไปกักเก็บภายในนีโอโซม เพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และเครื่องสำอาง วิธีทำการทดลองคือ ทำการพัฒนาความคงตัวของเอนไซม์ปาเปน โดยวิธีการนำไปทำเป็นสารประกอบเชิงซ้อนกับกับไฮดรอกซีโพรพิล-เบต้า-ไซโคลเด็กตริน ที่มีการใช้อัตราส่วนระหว่างเอนไซม์ปาเปนกับไฮดรอกซีโพรพิล-เบต้า-ไซโคลเด็กตรินที่แตกต่างกันคือ อัตราส่วนโมล 1=50,1=100,1=150,1=200,1=250,1=300 แล้วนำไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงพลังงานความร้อนที่มีผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของสารตัวอย่าง ส่วนวิธีการนำไปกักเก็บภายในนีโอโซมโดยเทคนิคคลอโรฟอร์มฟิล์ม ได้ศึกษาผลของสารลดแรงตึงผิวและปริมาณความเข้มข้นของเอนไซม์ปาเปนที่เหมาะสมต่อคุณลักษณะของนีโอโซม ศึกษาการกักเก็บเอนไซม์ปาเปนที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันของนีโอโซมและศึกษาการปลดปล่อยเอนไซม์ปาเปนจากนีโอโซมที่เวลาต่างๆ หลังจากนั้นทำการศึกษาเปรียบเทียบผลความคงตัวของเอนไซม์ปาเปนระหว่างวิธีการทำเป็นสารประกอบเชิงซ้อนกับไฮดรอกซีโพรพิล-เบต้า-ไซโคลเด็กตรินและวิธีการนำไปกักเก็บภายในนีโอโซม โดยทำการทดลองที่อุณหภูมิแตกต่างกัน ได้แก่ 37 , 45, 60 องศาเซลเซียส ผลการทดลองพบว่า สารประกอบเชิงซ้อนของเอนไซม์ปาเปนกับไฮดรอกซีโพรพิล-เบต้า-ไซโคลเด็กตรินและการกักเก็บปาเปนภายในนีโอโซม มีปริมาณของเอนไซม์ปาเปนคงเหลืออยู่มากกว่าเอนไซม์ปาเปนเดี่ยวๆที่สภาวะการทดสอบต่างๆ จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า การนำเอนไซม์ปาเปนมาทำเป็นสารประกอบเชิงซ้อนกับไฮดรอกซีโพรพิล-เบต้า-ไซโคลเด็กตริน และการกักเก็บปาเปนภายใน นีโอโซมนั้น สามารถช่วยเพิ่มความคงตัวให้กับเอนไซม์ปาเปนได้ โดยทั้งสองวิธีมีประสิทธิภาพในการช่วยเพิ่มความคงตัวของเอนไซม์ปาเปนได้ดีไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้น จึงสามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และเครื่องสำอางต่อไป
   
ปิดหน้าต่างนี้