บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การทดสอบเบื้องต้นถึงผลของสารสกัดสมุนไพรโกฐสอและสมุนไพรอื่นๆอีก 4 ชนิด ต่อการทำงานของเอนไซม์ CYP 3A4 จากตับหนูในหลอด
โดย : พรรณธิดา ศิลาเกษ พัชริดา ฐิตะยารักษ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : เบญจภรณ์ เศรษฐบุปผา สุทธาสินี สุวรรณกุล
คำสำคัญ : อันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยา, ไซโตโครมพี 450, CYP3A4, เทียนขาว, เทียนดำ, จันทร์แดง, โกฐกระดูก, โกฐสอ
   
ในปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น สมุนไพรจึงเป็นอีกทางเลือก หนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งรูปแบบการใช้เดี่ยวและใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน ซึ่งมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับสมุนไพรขึ้นได้ โดยผ่านกลไกการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ไซโตโครมพี 450 งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลเบื้องต้นของสารสกัดโกฐสอและสมุนไพรอื่นอีก 4 ชนิดต่อการทำงานของเอนไซม์ ไซโตโครมพี 450 ที่มีในไมโครโซมจากตับหนูเน้นที่ CYP3A4 ในหลอดทดลอง โดยศึกษาจากปฏิกิริยา 6-beta-Testosterone (6β-TST) ซึ่งเป็นเมตาบอไลท์ที่เกิดขึ้น เปรียบเทียบปริมาณ6β-TST ระหว่างการทดลองที่ใส่และไม่ใส่ส่วนสกัดสมุนไพร ซึ่งประกอบด้วยส่วนสกัดน้ำ แอลกอฮอล์และเฮกเซน วิเคราะห์หาปริมาณ 6β-TST ด้วยเทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) จากนั้นคำนวณเป็นร้อยละของการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ผลการทดลองพบว่าส่วนสกัดน้ำของสมุนไพรทั้ง 5 ชนิด มีผลยับยั้งการทำงานของ CYP3A4 ในระดับที่แตกต่างกัน คือ เทียนขาว(Cuminum cyminum)ร้อยละ10.56, เทียนดำ(Nigella sativa)ร้อยละ8.79, จันทร์แดง(Dracaena loureiri)ร้อยละ30.53, โกฐกระดูก(Saussurea lappa)ร้อยละ24.9, โกฐสอ (Angelica dahurica)ร้อยละ44.7 สำหรับส่วนสกัดแอลกอฮอล์ พบว่าสมุนไพร 4 ชนิดที่ทดสอบมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ CYP3A4 ได้แก่ เทียนขาว ร้อยละ3.11, เทียนดำร้อยละ31.22, จันทร์แดง ร้อยละ39.56,โกฐกระดูก ร้อยละ35.5,โกฐสอ ร้อยละ41.167 และสำหรับส่วนสกัดเฮกเซน พบว่าสมุนไพร 4 ชนิดที่ทดสอบมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ CYP3A4 ดังนี้ เทียนขาว ร้อยละ24.07, เทียนดำ ร้อยละ23.37, จันทร์แดง ร้อยละ 2.46, โกฐกระดูก ร้อยละ22.75, โกฐสอ ร้อยละ25.99 สรุปได้ว่าสมุนไพรทุกตัวมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ที่มีในตับหนูเมื่อทดสอบในหลอดทดสอบในหลอดทดลองด้วยระดับการยับยั้งที่แตกต่างกัน
   
ปิดหน้าต่างนี้