บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาตำรับเครื่องดื่มสมุนไพรรางจืดแบบชงละลายทันที
โดย : ธนภณ ผ่องใส สิทธิศาสตร์ สุริยะศรี สุวภัทร บูรณะกิติ
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : เบญจภรณ์ เศรษฐบุปผา ชลลัดดา พิชญาจิตติพงษ์
คำสำคัญ : รางจืด, Thunbergia laurifolia Linn., ชาชงสมุนไพร, spray dried instant herbal tea
   
รางจืด (Thunbergia laurifolia Linn.) เป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาแก้พิษหรือแก้เมาได้ผลดี นิยมรับประทานในรูปแบบแคปซูลและชาชง การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสูตรตำรับรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผงสำเร็จรูปรางจืดให้มี สี กลิ่น และสารสำคัญมีความคงตัวดี โดยนำใบรางจืดมาอบให้แห้ง บด แล้วต้มสกัด และเตรียมตำรับโดยวิธีการทำแห้งแบบพ่นละอองร่วมกับสารปรุงแต่งอื่น จากนั้นนำมาประเมินคุณสมบัติทางด้านเคมี ทางด้านกายภาพ และทางประสาทสัมผัส ผลการศึกษาปริมาณฟลาโวนอยด์ในแต่ละสูตรตำรับพบว่าปริมาณฟลาโวนอยด์ของทั้ง 6 ตำรับอยู่ในช่วงร้อยละ 0.6-3.0 ค่าความเป็นกรด-ด่างของผลิตภัณฑ์เมื่อผสมน้ำอยู่ในช่วง 5.84-7.29 ปริมาณความชื้นของผลิตภัณฑ์พบว่ามี % Loss On Drying อยู่ในช่วงร้อยละ 1.9-5.1 ผลการประเมินคุณสมบัติทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์พบว่าแต่ละสูตรตำรับผงชาชงมีลักษณะของอนุภาคที่แตกต่างกัน X-ray Powder Diffraction Pattern ของทั้ง 6 สูตรตำรับ พบว่าผงรางจืดสกัดจะยังคงความเป็นผลึกอยู่ แต่ ความเป็นผลึก (Degree of Crystallinity) ในแต่ละตำรับไม่เท่ากัน และตำรับที่ 3 ที่มีลักษณะเป็นผลึกอสัณฐาน (amorphous) ผลการศึกษาด้วยวิธี Fourier Transform Infrared Spectrometer (FT-IR) ทั้ง 6 สูตรตำรับ ไม่เกิดปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างสารสำคัญในรางจืดกับส่วนประกอบในตำรับ เมื่อทำการประเมินด้านคุณภาพทางประสาทสัมผัสของเครื่องดื่มผงสมุนไพรรางจืดที่ผสมน้ำแล้ว ตำรับที่ 5 และตำรับที่ 6 ได้รับความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์คิดเป็นร้อยละ 86.67 และ 13.33 ตามลำดับ โดยสูตรที่ 5 ซึ่งมีส่วนประกอบในตำรับประกอบด้วย น้ำสารสกัดใบรางจืด 80%, แลคโตส 19.97% และไวต้าสวีท(สารเพิ่มความหวานเทียม) 0.03% ซึ่งเป็นสูตรที่ได้รับคะแนนการประเมินทางด้านประสาทสัมผัสสูงสุด เหมาะที่จะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการผลิตและจำหน่ายต่อไป
   
ปิดหน้าต่างนี้