บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ในจังหวัดอุบลราชธานี= การประเมิน โดยแบบวัด WHOQOL-HIV-BREF
โดย : กิติมา วรรณทอง ณัฐมน มูลศรีแก้ว สมภพ ไทยานันท์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : น้องเล็ก คุณวราดิศัย นิตยา ดาววงศ์ญาติ
คำสำคัญ : ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยเอดส์, คุณภาพชีวิต, แบบวัดคุณภาพชีวิต
   
งานวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสรรรพสิทธิประสงค์จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2553 กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นเอดส์ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับยาต้านไวรัส จำนวน 238 ราย สุ่มตัวอย่างแบบ systemic random sampling เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบวัดคุณภาพชีวิตฉบับย่อขององค์การอนามัยโลก (WHOQOL – HIV – BREF) ที่ใช้ประเมินคุณภาพชีวิตใน 6 ด้าน (ด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกเป็นอิสระ สัมพันธภาพทางสังคม สิ่งแวดล้อมและจิตวิญญาณ) และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำแนกตามปัจจัยที่ศึกษาได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล (เพศ อายุ สถานภาพสมรส อาชีพ รายได้ เป็นต้น) การได้รับการดูแลจากบุคคลในครอบครัว การรับรู้ภาวะสุขภาพ ภาวะแทรกซ้อน ปริมาณ CD4 และ Viral load ระยะเวลาของการเป็นโรคและการรักษา โดยใช้ Mann-Whitney U Test และ Kruskal-Wallis One-Way Test ผลการศึกษาพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 88.7 และเมื่อจำแนกตามองค์ประกอบ 6 ด้านของคุณภาพชีวิตพบว่า คุณภาพชีวิตด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกเป็นอิสระ สัมพันธภาพทางสังคม สิ่งแวดล้อมและจิตวิญญาณ อยู่ในระดับปานกลางทุกด้านคิดเป็นร้อยละ 69.8, 73.1, 66.0, 71.4, 82.4 และ 58.0 ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าสถานภาพสมรส อาชีพ รายได้ ภาวะแทรกซ้อน และการได้รับการดูแลจากครอบครัว รวมถึงการรับรู้ภาวะสุขภาพที่แตกต่างกันมีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ดังนั้นเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ติดเชื้อ จึงควรให้ความรู้แก่ผู้รับบริการและครอบครัวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเอง รวมถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อน และการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่องและให้ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ
   
ปิดหน้าต่างนี้