บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : ปัจจัยที่มีผลต่อความยึดมั่นในวิชาชีพเภสัชกรรมของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
โดย : กนิษฐา อ่อนประทุม พงษ์ประยูร แก้วหมุน วัชระพล ภาระกุล
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : แสวง วัชระธนกิจ สัมมนา มูลสาร
คำสำคัญ : ความยึดมั่นในวิชาชีพเภสัชกรรม นักศึกษาเภสัชศาสตร์
   
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระดับความยึดมั่นในวิชาชีพเภสัชกรรมระหว่างนักศึกษาในแต่ละชั้นปี และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความยึดมั่นต่อวิชาชีพเภสัชกรรมของนักศึกษา เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาจำนวน 120 คน จากการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ โดยใช้แบบสอบถามที่ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ (1) ข้อมูลทั่วไป เช่น เพศ อายุ (2) ความสัมพันธ์ในสังคม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ หลักสูตรและการเรียนการสอน (3) ความผูกพันในวิชาชีพ (4) ปัจจัยด้านจิตวิทยา เช่น ความอดทนและความเบื่อหน่ายในการเรียน วิเคราะห์ความแตกต่างของระดับความยึดมั่นต่อวิชาชีพเภสัชกรรมระหว่างชั้นปีด้วยสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวน และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อความยึดมั่นในวิชาชีพเภสัชกรรมด้วยสมการถดถอยแบบหลายตัวแปร ผลของการศึกษาพบว่าปัจจัยที่สามารถทำนายความยึดมั่นในวิชาชีพเภสัชกรรมได้อย่างนัยสำคัญทางสถิติ คือ ความไม่เบื่อหน่ายต่อการเรียน (=0.249, p<0.05) ระยะเวลาในการเรียนคณะเภสัชศาสตร์ (=0.214, p<0.05) การรับฟังและช่วยเหลือนอกเหนือจากเรื่องการเรียนจากเพื่อน (=0.217, p<0.05) การได้รับคำปรึกษาจากอาจารย์ (=0.154, p<0.05) ความอดทนในการเรียน (=0.200, p<0.05) การได้พบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อนในคณะ (=-0.093, p<0.05) และอาจารย์บางท่านที่สนใจนอกเหนือการเรียนของนักศึกษา (=-0.104, p<0.05) ส่วนระดับความยึดมั่นต่อวิชาชีพเภสัชกรรมของนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 2-5 นั้นไม่มีความแตกต่างกัน
   
ปิดหน้าต่างนี้