บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การสั่งใช้ยาต้นแบบและความคิดเห็นของแพทย์ต่อมาตรการลดการสั่งใช้ยาต้นแบบ
โดย : ธนพร กองสุข นิติกานต์ หมื่นสุข มัญชุดา สุทธิพรชัย
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : สัมมนา มูลสาร แสวง วัชระธนกิจ
คำสำคัญ : การสั่งใช้ยา ยาต้นแบบ มาตรการลดการสั่งใช้ยา
   
การศึกษาเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสั่งใช้ยาต้นแบบและความคิดเห็นต่อมาตรการในการลดการสั่งใช้ยาต้นแบบของแพทย์อายุรกรรมในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งในประเทศไทย ส่งแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นทั้งหมดจำนวน 470 ฉบับ ได้รับการตอบกลับ 95 ฉบับ (ร้อยละ 20.21) ผลการศึกษาพบว่าเหตุผลในการสั่งใช้ยาต้นแบบของแพทย์อายุรกรรมที่สำคัญ 3 ลำดับแรก คือ การสั่งใช้ยาต้นแบบทำให้แน่ใจในผลการรักษามากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.94±0.97; จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) ความสามารถในการจ่ายค่ายาต้นแบบของผู้ป่วย (ค่าเฉลี่ย 3.65±0.98) การใช้ยาต้นแบบในกรณีที่ยานั้นมีช่วงการรักษาแคบ (narrow therapeutic index) (ค่าเฉลี่ย 3.62±1.09) สำหรับมาตรการในการลดการสั่งใช้ยาต้นแบบ 3 ลำดับแรกที่แพทย์ส่วนใหญ่เห็นด้วยคือ การพัฒนาคุณภาพยาชื่อสามัญเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ (ค่าเฉลี่ย 4.32±0.82; จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) กระทรวงสาธารณสุขควรมีระบบการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์มาตรฐานยาต้นแบบและยาชื่อสามัญที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วประเทศ (ค่าเฉลี่ย 4.21±0.75) เภสัชกรควรมีข้อมูลเปรียบเทียบยาสามัญกับยาต้นแบบที่สามารถเรียกดูได้ง่าย (ค่าเฉลี่ย 4.18±0.86) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อมาตรการในการลดการสั่งใช้ยาต้นแบบที่พบว่าแตกต่างกันคือ การออกแบบแนวทางปฏิบัติในการใช้ยาต้นแบบกลุ่มที่มีการใช้มากให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศพบว่า แพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์เห็นด้วยมากกว่าแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value 0.02) และพบว่าแพทย์อายุรกรรมที่มีระยะเวลาในการทำงานไม่เกิน10 ปีเห็นด้วยมากกว่าแพทย์อายุรกรรมที่มีระยะเวลาในการทำงานมากกว่า 10 ขึ้นไป ในกลยุทธ์เกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์ที่แพทย์ยอมรับในการสั่งใช้ยาต้นแบบ (p-value 0.03) และการกำหนดจำนวนปริมาณยาต่อใบสั่งยาในแต่ละโรงพยาบาล (p-value 0.003) รวมถึงระบบการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าการสั่งใช้ยาต้นแบบของแพทย์แต่ละคนกลับไปให้แพทย์ทราบ (p-value 0.04) ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารยาและเวชภัณฑ์ของคณะกรรมการโรงพยาบาลควรมีความเข้มแข็งในการคัดเลือกยาต้นแบบเข้าโรงพยาบาล พบว่าแพทย์อายุรกรรมที่ปฏิบัติงานนอกเวลาที่อื่นเห็นด้วยมากกว่าแพทย์อายุรกรรมที่ไม่ได้ปฏิบัติงานนอกเวลาที่อื่น (p-value 0.02) ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าแพทย์อายุรกรรมเชื่อว่ายาต้นแบบมีประสิทธิภาพที่ดีกว่ายาชื่อสามัญ โดยแพทย์เห็นว่าหากต้องการลดการสั่งใช้ยาต้นแบบควรมีการพัฒนาคุณภาพยาชื่อสามัญให้เทียบเท่ากับยาต้นแบบ และควรมีข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างยาชื่อสามัญกับยาต้นแบบที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงได้ง่าย
   
ปิดหน้าต่างนี้