บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การสำรวจการใช้ยาสมุนไพรของผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
โดย : นิคม กำแพงงาม สาวสุคนธ์ทิพย์ แผ่นพรหม
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : สุทธาสินี สุวรรณกุล เบญจภรณ์ เศรษฐบุปผา
คำสำคัญ : สมุนไพร อันตรกิริยาระหว่างยากับสมุนไพร จิตเวช ฟ้าทะลายโจร
   
ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย การใช้สมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันได้ โดยเฉพาะอันตรกิริยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเมตาบอลิซึม การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจการใช้สมุนไพรของผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์และศึกษาถึงโอกาสการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาแผนปัจจุบันกับสมุนไพร โดยเก็บข้อมูลในช่วงเดือนเมษายน - เดือนมิถุนายน 2552 จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยและจากข้อมูลรายการยาในใบสั่งยาของแพทย์ ผู้ป่วยที่สมัครใจเข้าร่วมการศึกษามีจำนวนทั้งสิ้น 138 คน เป็นชาย 75 คน และหญิง 63 คน ส่วนใหญ่มีอายุในช่วง 31-40 ปี (38.4%) และมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี (53.6%) ส่วนใหญ่มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโรค Schizophrenia (59.4%) และพบว่าร้อยละ10.9 ของผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย ได้แก่ โรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง จากการสัมภาษณ์พบว่า ผู้ป่วยที่เคยใช้ยาสมุนไพรมีจำนวนทั้งสิ้น 37 คน (คิดเป็นร้อยละ 26.8) ผู้ป่วยซื้อสมุนไพรใช้เองทุกราย โดยส่วนใหญ่ใช้ตามคำแนะนำของผู้ใกล้ชิด(62.5%) และต้องการการรักษาเสริม(20.0%) จำนวนสมุนไพรที่ใช้มี 43 รายการ รายการยาสมุนไพรที่มีการใช้มากที่สุด คือ ฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล (16.3%) รองลงมาได้แก่ ยาหม้อ (9.3%) และฟ้าทะลายโจรชนิดใบสด (7%) พบจำนวนคู่ยากับสมุนไพรที่มีโอกาสเกิดอันตรกิริยาต่อกันทั้งสิ้น 22 คู่ คิดเป็นร้อยละ 11.3 ของจำนวนคู่ยากับสมุนไพรทั้งหมด คู่ยากับสมุนไพรที่มีการใช้ร่วมกันมากที่สุดและมีโอกาสเกิดอันตรกิริยาต่อกัน ได้แก่ Diazepam กับ ฟ้าทะลายโจร และ Chlorpromazine กับ ฟ้าทะลายโจร รองลงมา คือ Haloperidol กับ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งความถี่ของการใช้ร่วมกันเป็น 5, 5 และ 3 ครั้ง ตามลำดับ จึงควรมีการศึกษาต่อไปถึงผลทางคลินิกที่อาจเกิดขึ้นจากอันตรกิริยาระหว่างคู่ยาและสมุนไพรดังกล่าว
   
ปิดหน้าต่างนี้