บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : รูปแบบการสั่งจ่ายยาลดความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
โดย : กีรติพงศ์ บุญสงค์ เชษฐ์ธวัท เศวตวงศ์ วิรัตน์ ทองปั้น
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : แสวง วัชระธนกิจ
คำสำคัญ : ความดันโลหิตสูง รูปแบบการสั่งจ่ายยา แนวทางการรักษา
   
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการสั่งจ่ายยาลดความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ ซึ่งมารับบริการตรวจรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2551โดยสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโปรแกรม HI (Hospital Information) ด้วยรหัส I10 และ I15 ซึ่งเป็นรหัสตาม ICD10 แล้วเปรียบเทียบรูปแบบการสั่งจ่ายยาลดความดันโลหิตสูงกับแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2551โดยสมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย (Thai Hypertension Society = Guideline in the Treatment of Hypertension 2008) และแนวทางการรักษาของ The Seventh Report of The Joint National Committee on Prevention, Detection, Evaluation, and Treatment of High Blood Pressure (JNC VII) ผลการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่จำนวน 55 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคร่วมจำนวน 9 ราย (ร้อยละ 16.36) และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่มีโรคร่วมจำนวน 46 ราย (ร้อยละ 83.64) โดยในกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่มีโรคร่วมแบ่งเป็นความดันโลหิตสูงระดับ 1 จำนวน 12 ราย (ร้อยละ 26.09) ความดันโลหิตสูงระดับ 2 จำนวน 34 ราย (ร้อยละ 73.91) เมื่อทำการเปรียบเทียบรูปแบบการสั่งจ่ายยาลดความดันโลหิตกับแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2551 โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่มีโรคร่วมมีการจ่ายยาลดความดันโลหิตเป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 4 ราย (ร้อยละ 44.44) และไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 5 ราย (ร้อยละ 55.56) ในกลุ่มที่ไม่มีโรคร่วม ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับ 1 มีการจ่ายยาลดความดันโลหิตเป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 2 ราย (ร้อยละ 16.67) และไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 10 ราย (ร้อยละ 83.33) และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับ 2 มีการจ่ายยาลดความดันโลหิตเป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 6 ราย (ร้อยละ 17.65) และไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 28 ราย (ร้อยละ 82.35) และเมื่อทำการเปรียบเทียบรูปแบบการสั่งจ่ายยาลดความดันโลหิตกับแนวทางการรักษาของ JNC VII พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่มีโรคร่วมมีการจ่ายยาลดความดันโลหิตเป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 4 ราย (ร้อยละ 66.67) และไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 2 ราย (ร้อยละ 33.33) ในกลุ่มที่ไม่มีโรคร่วม ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับ 1 มีการจ่ายยาลดความดันโลหิตเป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 1 ราย (ร้อยละ 8.33) และไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 11 ราย (ร้อยละ 91.67) และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับ 2 มีการจ่ายยาลดความดันโลหิตเป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 4 ราย (ร้อยละ 11.76) และไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาจำนวน 30 ราย (ร้อยละ 88.24) โดยส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง คือ ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงระดับ 2 ไม่ได้รับยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตสูงเพียงขนานเดียว และยาที่เริ่มใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในครั้งแรกไม่ได้เริ่มใช้ยาลดความดันโลหิตสูงในกลุ่ม Thiazide diuretics ตามแนวทางการรักษาของ JNC VII แม้จะไม่มีโรคร่วมอื่นๆ หรือข้อห้ามใช้
   
ปิดหน้าต่างนี้