บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเลิกบุหรี่และให้คำปรึกษาเรื่องเลิกบุหรี่ผ่านระบบ ออนไลน์
โดย : ขวัญชนก ราชชมภู ชณัฐกานต์ ศรีประเสริฐ ธนกิจ วงศ์สิริเมธากุล วิภาวี ชาดิษฐ์
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตร์บัณฑิต 5 ปี
อาจารย์ที่ปรึกษา : อนันต์ ไชยกุลวัฒนา ธีราพร ชนะกิจ
คำสำคัญ : การเลิกบุหรี่ ระบบออนไลน์อินเตอร์เน็ท
   
ปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้การให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ไม่เพียงพอ รวมทั้งขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องเลิกบุหรี่ และปัญหาเรื่องสถานพยาบาลที่ให้บริการเลิกบุหรี่ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นทางทีมผู้วิจัยจึงเล็งเห็นข้อจำกัดและต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการพัฒนารูปแบบการให้บริการเลิกบุหรี่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตโดยอาศัยเว็บไซต์(website) ในการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและบุคลากรการแพทย์ ดังนั้นงานวิจัยครั้งนี้มีรูปแบบ survey descriptive design ที่มีการวิเคราะห์ 2 แบบ คือ 1. descriptive analysis และ 2. Rating scale เพื่อศึกษาการให้บริการเพื่อเลิกบุหรี่ผ่านระบบออนไลน์อินเตอร์เน็ทในกลุ่มประชากรทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 1)พัฒนางานการบริการเพื่อเลิกบุหรี่ผ่านระบบออนไลน์อินเตอร์เน็ท 2) ประเมินทัศนคติผู้ขอรับบริการเพื่อเลิกบุหรี่ผ่านระบบออนไลน์อินเตอร์เน็ท โดยกลุ่มตัวอย่างคือบุคคลทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ผ่านทางเว็บไซต์ เก็บข้อมูลโดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ถึง 27 มิถุนายน 2552 โดยใช้ชุดทดสอบประกอบด้วย 1) แบบบันทึกประวัติผู้ได้รับแนะนำให้เลิกบุหรี่ 2) แบบทดสอบวัดระดับการติดสารนิโคติน (Fagerstrom Test for Nicotine Dependence, FTND) 3) แบบสำรวจทัศนะคติการให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ ผลการศึกษาพบว่าจากจำนวนผู้ที่เข้ามาใน http=//www.medcenterubon.com/sc มีจำนวนทั้งสิ้น 202,509 คน จำนวนผู้ที่เข้ามาตอบแบบสอบถามตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2551 ถึง 27 มิถุนายน 2552 จำนวนทั้งสิ้น 76 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่าง 21-30 ปี ร้อยละ 52 เพศชายมากกว่าเพศหญิง ระดับการศึกษาส่วนใหญ่มีระดับขั้นอุดมศึกษาร้อยละ 56 สถานภาพสมรสร้อยละ 56 พบว่ายังไม่มีรายได้ร้อยละ 40 มีโรคประจำตัวโรคเบาหวานร้อยละ 80 โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 76 สำหรับทัศนคติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ พบว่าผู้มารับบริการส่วนใหญ่ตระหนักถึงภัยอันตรายของบุหรี่ทั้งที่มีผลต่อร่างกาย และรบกวนคนรอบข้าง อย่างไรก็ตามคนเหล่านั้นยังคงสูบบุหรี่ต่อไป ทั้งนี้อาจเนื่องจากปัจจัยหลายประการเช่น ความเครียด ภาระงาน เพื่อนฝูง สถานที่สูบบุหรี่ นอกจากนี้วิธีที่ผู้สูบบุหรี่คิดว่าน่าจะช่วยในการเลิกบุหรี่ได้คือการหักดิบ และการรับคำปรึกษาจากแพทย์ ในส่วนของทัศนคติต่อการให้บริการเพื่อเลิกบุหรี่ผ่านระบบออนไลน์อินเตอร์เน็ทนั้น พบว่าส่วนใหญ่พึงพอใจกับบริการดังกล่าวและคิดว่าน่าจะเป็นอีกวิธีที่ช่วยในการเลิกบุหรี่ได้ อย่างไรก็ตามบริการดังกล่าวยังจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขข้อจัดบางประการเช่น ความชำนาญและทักษะของผู้ให้บริการ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้บริการ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และการเข้าถึงบริการ
   
ปิดหน้าต่างนี้