บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การวิจัยและพัฒนาเวชสำอางสมุนไพรเพื่อลดผมร่วงและเร่งการงอกของเส้นผม
โดย : นพรัตน์ พิชญ์ชัยประเสริฐ
ชื่อปริญญา : เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : เภสัชภัณฑ์และผลิตภัณธ์ธรรมชาติ
อาจารย์ที่ปรึกษา : วันดี รังสีวิจิตรประภา
คำสำคัญ : ลดผมร่วง เร่งการงอกของเส้นผม กวาวเครือขาว ถั่วเหลือง น้ำมันหอมระเหย
   
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพที่ทำให้ผมร่วงและการกระตุ้นการงอกของเส้นผม โดยทำการศึกษาสารสกัดหยาบจากพืช 2 ชนิดและน้ำมันหอมระเหย 4 ชนิด คือ สารสกัดกวาวเครือขาว สารสกัดถั่วเหลือง น้ำมันโหระพา น้ำมันตะไคร้ น้ำมันตะไคร้หอม และน้ำมันสะระแหน่ ในการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพทำโดยวิธี Agar disc diffusion และagar dilution และศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการงอกของเส้นผมด้วยการเพาะเลี้ยงต่อมรากผม และเซลล์รากผม จากการศึกษาพบว่าน้ำมันโหระพา น้ำมันตะไคร้ น้ำมันตะไคร้หอม และน้ำมันสะระแหน่ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อต่อเชื้อ S.aureus ที่ความเข้มข้นต่ำสุดเป็น 12.50, 3.13, 12.50, 6.25 mg/ml และ M.furfur เป็น 6.25, 0.78, 12.50, 6.25 mg/ml ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดพืช ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ และการศึกษาการกระตุ้นการงอกของเส้นผมด้วยการเพาะเลี้ยงต่อมรากผมพบว่า นีโอโซมน้ำมันหอมระเหยที่ความเข้มข้น 0.0001 µg/ml ยกเว้นนีโอโซมน้ำมันโหระพา มีผลกระตุ้นการงอกของต่อมรากผม อย่างมีนัยสำคัญ และในการศึกษาการกระตุ้นการเจริญของเซลล์รากผมพบว่า สารสกัดกวาวเครือขาวที่ความเข้มข้น 500 µg/ml และ 0.005 µg/ml มีผลกระตุ้นการเจริญในวันที่ 1 และ 5 ของการทดสอบ ในขณะที่นีโอโซมสารสกัดกวาวเครือขาว (0.001 µg/ml) สารสกัดถั่วเหลือง (100 µg/ml) น้ำมันตะไคร้ (0.1-10 µg/ml) น้ำมันตะไคร้หอม (0.01-100 µg/ml) และน้ำมันสะระแหน่ (0.01-100 µg/ml) มีผลกระตุ้นการเจริญของเซลล์รากผม ในวันที่ 5 ของการทดสอบ จากผลการศึกษาสรุปผลได้ว่าน้ำมันตะไคร้มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลชีพมากกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ และนีโอโซมของสารสกัดกวาวเครือขาว สารสกัดถั่วเหลือง น้ำมันตะไคร้ น้ำมันตะไคร้หอม และน้ำมันสะระแหน่ กระตุ้นการเจริญของเซลล์รากผมได้ ดีกว่าสารสกัด และน้ำมันหอมระเหยที่ไม่ได้กักเก็บในนีโอโซม
   
ปิดหน้าต่างนี้